#1
|
||||
|
||||
เทศน์วันอาสาฬหบูชา วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘
เทศน์วันอาสาฬหบูชา ๒๕๕๘ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ อะนุตตะรัง อะภิสัมโพธิง สัมพุชฌิต๎วา ตะถาคะโต ปะฐะมัง ยัง อะเทเสสิ ธัมมะจักกัง อะนุตตะรันติ บัดนี้..อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนา ในธัมมจักกัปปวัตนสุตกถา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนบารมี เสริมสร้างกุศลบุญราศี แก่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้ ญาติโยมทั้งหลาย วันอาสาฬหบูชานั้น จัดเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งในบวรพุทธศาสนา เนื่องจากว่าเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ การเทศน์ครั้งแรกหลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ซึ่งองค์สมเด็จพระประทีปแก้วของเรานั้น พระองค์ท่านทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๖ ปีเต็ม ๆ จึงได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ที่บริเวณตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือที่เรียกว่าวันวิสาขปูรณมี องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสวยวิมุตติสุขอยู่ ๔๙ วัน หลังจากนั้นพระองค์ท่านก็ทรงพิจารณาว่า เมื่อตรัสรู้ธรรมแล้ว จักสั่งสอนผู้ใดให้รู้ตามดี เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพิจารณาแล้ว ก็ทรงเกิดความขวนขวายน้อย ไม่คิดที่จะแสดงธรรมโปรดแก่ผู้ใด เนื่องจากว่าองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ธรรมะนั้นเป็นของละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตามได้ เมื่อท้าวสหัมบดีพรหม อธิบดีแห่งพรหมทั้งหลาย ได้ทราบความคิดคำนึงของพระองค์ท่านแล้ว ก็ได้เสด็จมาปรากฏอยู่เบื้องพระพักตร์ ทำการถวายบังคม แล้วกราบทูลอาราธนาพระองค์ท่านให้ทรงแสดงธรรม โดยกล่าวว่า สัตว์ทั้งหลายที่ธุลีในดวงตามีน้อยนั้นมีอยู่ จักสามารถรู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์ท่านได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตั้งใจที่จะแสดงธรรมโปรดแก่พุทธบริษัท
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-08-2015 เมื่อ 19:26 |
สมาชิก 59 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
องค์สมเด็จพระบรมสิริสวัสดิ์จึงได้พิจารณาดูว่า จักแสดงธรรมแก่ผู้ใดดี ? องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ทรงระลึกถึง ท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร และท่านอุทกดาบสรามบุตร สองอาจารย์ที่ได้เคยสั่งสอนพระองค์ท่านมา เป็นผู้มีอินทรีย์อันแก่กล้า สามารถที่จะตรัสรู้ธรรมได้ ถ้าหากว่าพระองค์ท่านแสดงให้ฟัง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ท่านอาฬารดาบสกาลามโคตรนั้น ได้เสียชีวิตลงไป ๗ วันแล้ว ส่วนท่านอุทกดาบสรามบุตรนั้นยิ่งหนักไปกว่า เพราะว่าเพิ่งเสียชีวิตลงในวันนี้เอง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้พิจารณาต่อไปว่า แล้วเราจะโปรดผู้ใดดี ? องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ระลึกว่า ปัญจวัคคีย์พราหมณ์ทั้ง ๕ ซึ่งเคยได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ท่านมา ๖ ปีนั้น เป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้า สามารถรู้ทั่วถึงธรรมได้ แต่ขณะนี้ปัญจวัคคีย์พราหมณ์นั้น ได้หนีไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แม้ว่าจะยังอยู่ในเขตของพาราณสีประเทศ แต่ก็เป็นสถานที่ซึ่งห่างไกลอย่างยิ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตั้งใจเสด็จไปโปรด องค์สมเด็จพระบรมสุคตจึงได้นิราศออกจากอุรุเวลาเสนานิคม ตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ไปถึงที่นั่นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ พอดี ญาติโยมทั้งหลาย องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์ท่านมีปกติเดินทางได้วันละ ๑๒๐ โยชน์ ถ้าเทียบเป็นมาตราปัจจุบันก็คือ วันละ ๑,๙๒๐ กิโลเมตร ซึ่งถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสงสัยว่าเป็นไปได้หรือ ? อาตมาขอยืนยันว่าเป็นไปได้ เพราะกำลังของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขอยกอาตมภาพเองเป็นตัวอย่าง อาตมาสามารถเดินเท้าข้ามทุ่งใหญ่ ซึ่งมีระยะทาง ๙๓ กิโลเมตรได้ภายในวันเดียว แต่ขณะเดียวกัน บางท่านอาจจะต้องใช้เวลา ๓ วัน และบุคคลที่สามารถเดินทางข้ามทุ่งใหญ่ภายในวันเดียวอย่างอาตมานี้ เคยวิ่งไล่ตามกะเหรี่ยงที่นำทางมาแล้ว เนื่องจากว่าอาตมาไม่รู้จักทางจากทุ่งใหญ่ไปสู่อุ้มผาง จึงขอให้กะเหรี่ยงท่านหนึ่งนำทางให้ อาตมาที่เดินทางแล้วใคร ๆ ก็บ่นว่า ทำไมเดินเร็วขนาดนั้น ? ยังต้องวิ่งไล่กะเหรี่ยงคนนั้นอยู่ครึ่งค่อนวัน ดังนั้น..กำลังและความชำนาญของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน จึงสามารถเป็นไปได้ในเรื่องทั้งหลายเหล่านี้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-08-2015 เมื่อ 19:30 |
สมาชิก 62 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
ส่วนที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่ ๔๙ วัน ตั้งแต่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ แล้วเสด็จไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก็แปลว่าห่างจากวันตรัสรู้ ๖๐ วัน การที่พระองค์ท่านเสด็จเสวยวิมุตติสุขไป ๔๙ วัน แปลว่าพระองค์ท่านต้องเดินทางอยู่ถึง ๑๑ วัน แล้วป่าอิสิปตนมฤคทายวันห่างจากอุรุเวลาเสนานิคมเท่าไร ? ถ้าวัดระยะทางในปัจจุบัน ก็ห่างกัน ๒๓๐ กิโลเมตร องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์เดินวันเดียวก็ถึงแล้ว แต่ทำไมองค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงใช้เวลาถึง ๑๑ วัน ?
แม้ว่าในขณะนั้นพระองค์ท่านจะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วก็ตาม แต่เป็นการบรรลุโดยไม่มีใครรู้ว่าพระองค์ท่านเสด็จหนีไปไหน โดยเฉพาะทางฝ่ายบ้านเมือง เนื่องจากว่าทันทีที่พระองค์ท่านประสูติขึ้นมาเป็นสิทธัตถราชกุมาร บรรดาพราหมณ์ทั้งหลายก็ทำนายลักษณะว่า ถ้าบุคคลนี้อยู่ครองราชย์ จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลก ถ้าเสด็จออกบวชก็จะได้เป็นศาสดาเอกของโลก เราลองมานึกดูว่า บุคคลหนึ่งถ้าเกิดมาจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็คือยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์หรือพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ จะสามารถมีอำนาจเหนือกว่าเขาทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเป็นท่านทั้งหลายมีอำนาจครองบัลลังก์อยู่ จะยินดีให้บุคคลนี้มีชีวิตอยู่ต่อไปหรือไม่ ? ในขณะที่มีชีวิตอยู่ในวัง อาจจะได้รับการแวดล้อมรักษาอย่างเต็มที่ในฐานะราชกุมาร แต่พอเสด็จออกบวชเหลือพระองค์ท่านองค์เดียว ก็ต้องคอยหลบซ่อนอยู่ในป่า เพราะเกรงว่าถ้ามีผู้มาพบเข้า ก็อาจจะถูกปองร้ายได้ พระองค์ท่านไม่ได้กลัวตาย แต่กลัวบุคคลอื่นจะสร้างกรรมอันหนัก แล้วเป็นโทษมหาศาลแก่บุคคลนั้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 30-08-2015 เมื่อ 22:05 |
สมาชิก 57 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ในความคาดคิดของอาตมา ระยะเวลา ๑๑ วัน ที่องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จออกจากอุรุเวลาเสนานิคม ไปยังอิสิปตนมฤคทายวันนั้น คาดว่าพระองค์ท่านจะออกเสด็จในเวลาค่ำคืนที่ดึกมาก เพื่อที่จะให้ปลอดจากผู้คนอย่างแท้จริง และต้องรีบหลบเข้าป่าไปก่อนที่จะสว่าง เพราะเกรงว่าผู้อื่นจะพบเห็น ถ้าหากว่ามีคนเห็นเมื่อไร เหล่าจารบุรุษส่งข่าวไป เชื่อว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งมีอำนาจเหนือแคว้นพาราณสีหรือเมืองกาสีในเวลานั้น ก็คงจะใช้ราชบุรุษหรือกองทหารเข้ามาจับ หรือว่าทำร้ายพระองค์ท่าน ซึ่งจะเป็นกรรมอันหนักมาก
พระองค์ท่านจึงต้องใช้เวลาถึง ๑๑ วัน กว่าจะเสด็จไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ถ้าถามว่าองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบไปด้วยฤทธิ์ สามารถเหาะไปถึงได้ในระยะเวลาชั่วลัดนิ้วมือเดียว แล้วทำไมถึงไม่ทำ ? ตรงนี้เราต้องมาพิจารณาว่า สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสั่งห้ามบรรดาพระภิกษุสงฆ์ในบวรพุทธศาสนาแสดงฤทธิ์ เพราะว่าการแสดงฤทธิ์นั้นทำให้บุคคลไปยึดติด การยึดติดในตัวบุคคล ยึดติดในฤทธิ์อำนาจ ทำให้ไม่สามารถจะเข้าถึงมรรคถึงผลได้ เพราะว่าเป็นการยึดตัวบุคคล ไม่ใช่ยึดในคุณพระรัตนตรัยซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่ต้องการให้ปัญจวัคคีย์ได้ยึดติดพระองค์ท่าน ในฐานะผู้ที่มีฤทธิ์มีเดชเหนือกว่าผู้อื่น เพราะว่าจะเป็นการขวางมรรคผลพระนิพพานของพวกเขาทั้งหลาย สมเด็จพระจอมไตรจึงต้องเสด็จไปโดยพระบาท ก็คือเดินไปและจะต้องหลบซ่อนไปในเวลาค่ำคืน กว่าจะไปถึงจึงต้องใช้เวลาถึงสิบเอ็ดวัน
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 30-08-2015 เมื่อ 22:05 |
สมาชิก 61 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
เมื่อองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปถึง ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งมั่นใจว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จมานั้น คงจะมาเพราะทนลำบากไม่ไหว ก็เลยเลิกการทรมานกาย แล้วก็มาให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นผู้ปรนนิบัติรับใช้ตามเดิม เมื่อเห็นพระองค์ท่านเสด็จมาแต่ไกล ปัญจวัคคีย์จึงได้นัดแนะกันว่า เราจงอย่าลุกขึ้นต้อนรับ จงอย่าปูอาสนะถวาย จงอย่าถวายน้ำใช้น้ำฉันทั้งปวง
แต่เมื่อพระองค์ท่านเสด็จไปถึง ด้วยอำนาจของพุทธานุภาพ ปัญจวัคคีย์แม้จะนัดแนะกันดีแล้ว ต่างคนต่างก็กุลีกุจอทำหน้าที่ของตนเอง ท่านที่เคยล้างเท้าก็ล้างเท้าให้ ท่านที่เคยปูอาสนะก็ปูอาสนะถวาย ท่านที่เคยถวายน้ำใช้น้ำฉันก็ถวายน้ำใช้น้ำฉันแก่พระองค์ท่าน แต่ก็ยังใช้คำพูดในลักษณะของผู้ใหญ่พูดกับเด็ก โดยเรียกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “อาวุโส” แปลว่า “ผู้มีอายุ” ซึ่งเป็นคำที่ผู้ใหญ่เรียกเด็กในสมัยนั้น ถ้าหากว่าเป็นสมัยนี้ก็ประมาณว่า “ไอ้หนุ่ม” อะไรทำนองนี้ องค์สมเด็จพระภควันต์จึงได้ตรัสห้ามและกล่าวว่า บัดนี้เราบรรลุมรรคผลแล้ว ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ยังไม่เชื่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสย้ำว่า ระหว่างที่อยู่ด้วยกันมา ๖ ปี เราเคยกล่าวคำไม่จริงหรือไม่ ? ปัญจวัคคีย์พิจารณาตามไปแล้ว ก็เห็นว่าตลอดทั้ง ๖ ปีที่ผ่านมา องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ล้วนแล้วตรัสแต่ความสัตย์ความจริงทั้งสิ้น ดังนั้น เชื่อว่าองค์สมเด็จพระมหามุนินทร์ คงจะบรรลุมรรคผลแล้วดังที่ได้ตรัสมา จึงตั้งใจฟังธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรแรกและเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกในพระพุทธศาสนา
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 31-08-2015 เมื่อ 19:27 |
สมาชิก 44 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#6
|
||||
|
||||
เนื้อหาใจความมีว่า การทรมานตนเองก็ดี การทำตนเองให้ได้รับความสุขสบายมากจนเกินไปก็ดี เป็นส่วนที่บรรพชิตทั้งหลายไม่ควรไปเกี่ยวข้อง การที่จะบรรลุมรรคผลได้นั้น ต้องปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทา ก็คือหนทางสายกลาง ซึ่งประกอบไปด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ไปลงที่สัมมาสมาธิ เป็นต้น เมื่อย่อลงแล้วจัดอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา เพราะว่าสัมมาวาจา การพูดดีพูดถูก สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ สัมมากัมมันตะ การกระทำที่ถูกต้องนั้น จัดว่าเป็นศีล
ส่วนสัมมาวายามะ ความเพียรที่ถูกต้อง สัมมาสติการตั้งสติไว้ถูกต้อง และสัมมาสมาธิ การทำสมาธิที่ถูกต้องนั้น เป็นส่วนของสมาธิ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ และสัมมาสังกัปปะ การดำริชอบ จัดเป็นปัญญา ดังนั้น มรรค ๘ ขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อย่อลงมาแล้ว จึงเป็น ปัญญา ศีล และสมาธิ แต่พวกเราเคยชินกับคำว่า ศีล สมาธิ และปัญญา มากกว่า เมื่อพระอัญญาโกณฑัญญะซึ่งเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ ได้ฟังองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว พิจารณาตามไปก็เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดแต่เหตุ ถ้าเหตุดับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ดับไปด้วย บรรดาพรหมเทวดาทั้งหลาย เมื่อเห็นว่ามีพระภิกษุสงฆ์ คือผู้ที่ตรัสรู้ธรรมตามองค์สมเด็จพระประทีปแก้วแล้ว ก็เกิดปีติอย่างยิ่ง ทำการอนุโมทนาสาธุการขึ้นมา จนแผ่นดินไหวหวั่นสะท้านสะเทือนไปทั่วทุกทิศ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 31-08-2015 เมื่อ 19:28 |
สมาชิก 47 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#7
|
||||
|
||||
จากนั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารก็ได้แสดงธรรมโปรดให้แก่ปัญจวัคคีย์ที่เหลือ คือ ท่านวัปปะ ท่านภัททิยะ ท่านมหานามะ และท่านอัสสชิ โดยแสดงธรรมโปรดอยู่ทุกวันเป็นเวลา ๗ วันเต็ม ๆ จากธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่เป็นพระสูตรแรกในพระพุทธศาสนา ก็เป็นอนัตตลักขณสูตร ก็คือสูตรที่กล่าวถึงการไม่มีตัวตนให้ยึดถือมั่นหมายได้ ปัญจวัคคีย์จึงได้รู้ทั่วถึงธรรม กลายเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา
องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเกิดความปีติยินดีขึ้นว่า ธรรมะของพระองค์ท่านนั้นไม่ได้ยากจนเกินไป บุคคลที่มีวาสนาบารมีและมีอินทรีย์ที่แก่กล้าพอแล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุธรรม และเข้าถึงธรรมทั้งหลายเหล่านั้นได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้จำพรรษานั้นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นเอง เมื่อออกพรรษาแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกับปัญจวัคคีย์ก็แยกย้ายไปคนละทิศ เพื่อที่จะไปโปรดบุคคลที่พระองค์ท่านเห็นสมควร จักได้แผ่ขยายพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางออกไป ซึ่งพระองค์ท่านก็สามารถทำได้สำเร็จภายในปีเดียว ก็คือสามารถที่จะทรมานบรรดาชฎิลสามพี่น้องตลอดจนบริวาร ให้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และบรรลุอรหัตผลทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วองค์สมเด็จพระมหามุนินทร์ จึงได้นำเอายังชฎิล ๓ พี่น้องตลอดจนบริวารทั้งหลาย ตรงไปยังเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสาร เพื่อที่จะเสด็จไปโปรดตามปฏิญาณที่ได้ให้ไว้ ตั้งแต่ตอนที่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ เมื่อพระองค์ท่านโปรดพระเจ้าพิมพิสารพร้อมกับบริวารเข้าถึงธรรมแล้ว ก็เท่ากับประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในชมพูทวีป นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาก็เจริญวัฒนาถาวร สืบเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-09-2015 เมื่อ 15:39 |
สมาชิก 41 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#8
|
||||
|
||||
ญาติโยมที่ได้มาทำบุญในวันอาสาฬหบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้ ท่านทั้งหลายนับว่าได้ปฏิบัติตามธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ เมื่อมาก็ตั้งใจที่จะมาฟังเทศน์ฟังธรรม ตั้งใจที่จะมาทำบุญใส่บาตร ตั้งใจที่จะมาหล่อเทียนพรรษา หลายท่านก็ตั้งใจว่า คืนนี้จะมาเวียนเทียนเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชาด้วย
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แสดงว่า ท่านทั้งหลายกำลังขัดเกลาตัวเอง ตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ด้วยการให้ทาน เป็นการสละออกซึ่งความโลภในใจของตน ด้วยการรักษาศีล เพื่อเป็นการขจัดความโกรธ ขจัดความมีโทสะประทุษร้ายผู้อื่น ด้วยการตั้งใจเงี่ยหูลงฟังธรรม สร้างเสริมปัญญาให้เกิดขึ้น ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายนั้น ได้ปฏิบัติตนอยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา คือทางสายกลางตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ถ้าท่านทั้งหลายสามารถประพฤติปฏิบัติได้ต่อเนื่องยาวนาน และถูกต้องตามหนทางแล้ว ก็เชื่อว่าท่านทั้งหลายสามารถที่จะเข้าถึงมรรคผลพระนิพพานได้ เช่นเดียวกับปัญจวัคคีย์ ที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ได้เสด็จไปโปรดในวันอาสาฬหบูชา ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๔๕ ปีนั่นเอง ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะเป็นประธาน มีบารมีของหลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนแห่งนี้เป็นที่สุด ขอได้โปรดดลบันดาลให้ญาติโยมทั้งหลาย ประสบความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้งสี่ประการ มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดถึงปฏิภาณและธรรมสารสมบัติอันเป็นที่พึงใจทั้งปวง รับหน้าที่วิสัชนามาในธัมมจักกัปปวัตนสุตกถาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์วันอาสาฬหบูชา ณ วัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย หยาดฝน)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 01-09-2015 เมื่อ 15:45 |
สมาชิก 42 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|