#1
|
||||
|
||||
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๗
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๗
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด (-/\-) (-/\-) (-/\-) |
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ตัวเล็ก ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#2
|
||||
|
||||
วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพเดินทางออกจากที่พักตั้งแต่ตี ๔ เพื่อตรงไปยังบ้านปางโม่ หมู่ที่ ๘ ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตามที่ได้รับนิมนต์จากท่านพันแสน อคฺคธมฺโม เจ้าอาวาสวัดศิลาวาส (ปางโม่) หรือในชื่อเก่าคือวัดป่าเจริญธรรม ให้มาทำการบวงสรวงพุทธาภิเษกรูปเหมือนพระสีวลีทรงม้า
ตอนแรกกระผม/อาตมภาพก็ยังสงสัยอยู่ว่า "ท่านพันแสนนี้คือใคร ?" เมื่อไปถึงปรากฏว่าเป็นบุคคลที่คุ้นเคยกัน คือท่านเคยอยู่ที่สำนักสงฆ์ถ้ำป่าอาชาทอง เป็นหนึ่งในบรรดาศิษย์ที่ครูบาเหนือชัย โฆสิโต "พระขี่ม้า" หรือในอีกฉายาหนึ่งก็คือ "นักบุญแห่งขุนเขา" ได้ฟูมฟักท่านขึ้นมา เมื่อไปถึง นอกจากท่านพันแสนและคณะศิษย์อีก ๘ - ๙ รูปแล้ว ก็ยังมีหลวงพ่อนิล (พระครูวินัยธรธวัชชัย ชาครธมฺโม) ประธานที่พักสงฆ์อาศรมศรีชัยรัตนโคตร ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มาอยู่ด้วย แสดงว่าทางด้านท่านพันแสน ได้นิมนต์เอาบุคคลในสายซึ่งขึ้นไปช่วยงานครูบาเหนือชัยมาในงานนี้ด้วย เมื่อไปถึง กระผม/อาตมภาพก็ต้องวิ่งหาห้องน้ำก่อนเพื่อน เพราะว่าอากาศที่นี่แค่ ๑๖ องศาเซลเซียส ซ้ำยังมีฝนพรำลงมาในบางจังหวะการเดินทางอีกต่างหาก ทำให้อาการมาลาเรียลงกระเพาะกำเริบ ออกจากห้องน้ำมาแล้ว เข้าไปยังที่ซึ่งท่านพันแสนจัดให้เป็นที่พัก ปรากฏว่าด้านในนั้นมีหอก ดาบ ง้าว ทวน ต่าง ๆ จำนวนมากเต็มไปหมด กระผม/อาตมภาพเห็นแล้วก็รู้สึกแปลกใจ เพราะว่ามีทั้งใบเก่าทำด้ามใหม่ หรือว่าด้ามเก่าตีใบขึ้นมาใหม่ ท่านพันแสนบอกว่าก่อนบวชท่านมีความรู้ทางด้านโลหะศาสตร์อยู่เล็กน้อย และสนใจเรื่องเกี่ยวกับอาวุธโบราณ จึงได้ศึกษาเอาไว้ จนกระทั่งเมื่อมาอยู่ที่นี่ เห็นว่าสามารถที่จะนำให้ญาติโยมทั้งหลายทำเป็นอาชีพได้ จึงพยายามสอนให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น ในการตีอาวุธขึ้นมาจากโลหะ ในการทำด้าม ทำฝัก ทำรัดด้าม ทำหุ้มฝัก ไม่ว่าจะเป็นโลหะ หรือว่าในส่วนของพลาสติก หรือว่าที่สมัยนี้เรียกกันว่า "พีวีซี" เป็นต้น
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-01-2024 เมื่อ 02:19 |
สมาชิก 31 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#3
|
||||
|
||||
กระผม/อาตมภาพจึงได้ชื่นชมบรรดาสิ่งที่ท่านได้สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นดาบเมือง หรือว่า หอก แหลน หลาว ดาบหลังม้า ดาบจีน ดาบไทยเลียนแบบญี่ปุ่น เป็นต้น เห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าทำได้ในฝีมือระดับนี้ ก็เรียกว่าพอที่จะอวดคน พอที่จะจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะทุกเล่มนั้น เป็นของทำมือ ที่เรียกกันว่า "แฮนด์เมด"
แต่ได้ตักเตือนไปว่า งานส่งเสริมอาชีพของชาวบ้านนั้นเหนื่อยยากมาก อย่างที่กระผม/อาตมภาพทำ อันดับแรกเลย เราต้องไปเสาะหาว่ามีใครที่เป็นช่างฝีมือแบบนี้บ้าง เมื่อได้ตัวมาแล้วก็ยังต้องดูว่า สิ่งที่ท่านจะทำนั้น เราต้องลงทุนในส่วนใดบ้าง หลังจากที่ผลิตชิ้นงานออกมาแล้ว ยังต้องหาตลาดให้อีกด้วย อย่างเช่นที่วัดท่าขนุน ในระยะแรกก็หาตลาดให้ โดยการเปิดให้มาจำหน่ายในวัดเวลาที่วัดมีงาน เพราะว่าการส่งเสริมอาชีพนั้น ถ้าหากว่าส่งเสริมให้ทำแล้ว แต่ไม่มีตลาดให้จำหน่าย เขาไม่สามารถจะจำหน่ายเป็นรายได้ ก็จะทำให้เขาหมดกำลังใจที่จะทำต่อ เมื่อจัดหาตลาดให้แล้ว ก็ยังมีปัญหาว่าไม่มีผู้คนรู้จักตลาด กระผม/อาตมภาพก็ต้องมาช่วยทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทางสื่อโซเชียลก็ดี ทางแผ่นป้ายโฆษณา หรือว่าทางเว็บไซต์ก็ตาม เมื่อมีการโฆษณาแล้ว ก็ยังต้องมีการจัดงาน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเดินตลาด การจัดงานก็ไม่ใช่เฉพาะสินค้าของเรา จึงต้องร่วมมือกับทางเทศบาล เวลาจัดงานจะได้ดึงความสนใจของบุคคลได้มากขึ้น เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ จึงทำให้ต้องขยายงานให้กว้างออกไป โดยเริ่มจากการไปขอพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งทางสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิครอบครองอยู่ ขออนุญาตในการรื้อสิ่งปลูกสร้างที่หมดอายุออก แล้วสร้างเป็น "ร้านค้าชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน" ต่อมาเมื่องานกว้างออกไป คือได้ส่งเสริมในการทำอาชีพต่าง ๆ ของชาวบ้านจนครบทั้ง ๗ ตำบลในอำเภอทองผาภูมิ ก็ต้องขยายงานออกมา ด้วยการสร้างตลาดริมแควเมืองท่าขนุน เมื่อสร้างแล้วก็ต้องดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาบริเวณนั้น ตอนแรกก็ทำโครงการ "หิ้วตะกร้า นุ่งผ้าไทย นั่งแคร่ไม้ ใส่บาตรพระทุกวันอาทิตย์" ซึ่งนักท่องเที่ยวสายบุญเป็นจำนวนมากนิยมมาร่วมงานกัน ทำให้ร้านค้าชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน สามารถที่จะยืนหยัดจนผ่านภาวะวิกฤตมาได้ ครั้นเมื่อมีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะยืนด้วยตนเองได้แล้ว กระผม/อาตมภาพก็มาสร้าง "ตลาดริมแควเมืองท่าขนุน" แล้วบรรดาคณะกรรมการ ซึ่งกระผม/อาตมภาพแต่งตั้งให้รับผิดชอบตลาดริมแควเมืองท่าขนุนนั้น ก็ทำโครงการ "วันเสาร์ใส่บาตรตลาดริมแคว ยลวิถีเมืองท่าขนุน" ขึ้นมา เมื่อมีทั้งวันเสาร์และวันอาทิตย์ ก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งหลาย ซึ่งปกติแล้วมีที่ใดใหม่ ๆ แปลก ๆ หรือว่ามีมุมเหมาะ ๆ ที่จะถ่ายรูปตนเองในลักษณะที่เรียกว่า "เซลฟี่" ได้ ท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็จะแห่กันไปทันที ทำให้เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับเราไปในตัว
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-01-2024 เมื่อ 02:23 |
สมาชิก 31 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#4
|
||||
|
||||
ปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นโครงการ "วันเสาร์ใส่บาตรตลาดริมแคว ยลวิถีเมืองท่าขนุน" ก็ดี โครงการ "หิ้วตะกร้า นุ่งผ้าไทย นั่งแคร่ไม้ ใส่บาตรพระทุกวันอาทิตย์" ก็ตาม นับว่าติดตลาดแล้ว และทำให้ชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุนนั้น ได้รับการยกย่องให้เป็น ๑ ใน ๑๐ สุดยอดชุมชนคุณธรรม ตามโครงการเที่ยวชุมชนยลวิถี ปี ๒๕๖๖ และทางกระทรวงวัฒนธรรม ยังได้นำเข้าสู่โครงการอารามภิรมย์อีกด้วย
โดยเฉพาะโครงการอารามภิรมย์นี้จะต้องมีความเหมาะสมทั้ง ๔ ด้าน อย่างเช่นว่าด้านสถานที่ ด้านการท่องเที่ยว ด้านการประสานงานระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียนและส่วนราชการ ตลอดจนกระทั่งด้านใฝ่หาความสงบ มีการปฏิบัติธรรม ซึ่งวัดท่าขนุนมีครบถ้วนทั้ง ๔ ด้าน และเป็นอารามภิรมย์ที่เดียว แห่งเดียว ของอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี กระผม/อาตมภาพเห็นว่า สิ่งต่าง ๆ ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามนี้ แม้ว่าจะยืนหยัดได้แล้วก็ตาม แต่เราก็ควรที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งหลั่งไหลไปยังสังขละบุรีเป็นประจำ แม้ว่าที่พักของสังขละบุรีในวันธรรมดา คืนหนึ่งก็อยู่ที่ ๑,๕๐๐ บาท ถ้าเป็นวันหยุดก็ถึง ๒,๕๐๐ - ๓,๐๐๐ บาท ทั้ง ๆ ที่ราคาห้องพักในอำเภอทองผาภูมินั้น คืนหนึ่งประมาณ ๖๐๐ บาท ไม่เกิน ๘๐๐ บาท ก็หาพักได้แล้ว แต่นักท่องเที่ยวอยากจะไปร่วมโครงการใส่บาตรที่ "สะพานมอญ" หรือสะพานอุตตมานุสรณ์ ก็ยอมจ่ายแพง เพื่อที่ไปพักที่อำเภอสังขละบุรี ซึ่งต้องเดินทางขึ้นเขาลงห้วยไปอีก ๘๐ กว่ากิโลเมตร กระผม/อาตมภาพจึงได้ปรึกษาหารือ ร่วมมือกับทางเทศบาลตำบลทองผาภูมิ ซึ่งในขณะนั้น ผู้นำก็คือท่านประเทศ บุญยงค์ ตลอดจนกระทั่งเมื่อท่านประเทศถอนตัวไปลงการเมืองสนามใหญ่ ก็คือสมัครลงผู้แทนราษฎร ทางด้านผู้มาใหม่ ก็คือท่านศราวุธ ศรีทันดร ก็ยังให้ความร่วมมือสืบมา ทั้งยังมีการสนับสนุนจากท่านจิตรกร ว่องประเสริฐ นายกเทศมนตรีตำบลท่าขนุน และท่านสมเกียรติ นาคศรีโภชน์ ซึ่งใส่หัวโขนหลายหัว หัวหนึ่งก็คือรองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าขนุน อีกหัวหนึ่งก็คือรองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ ยื่นมาเข้ามาช่วยเหลือ
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-01-2024 เมื่อ 02:26 |
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
#5
|
||||
|
||||
กระผม/อาตมภาพจึงได้ทำโครงการสร้างสะพานแขวนหลวงปู่สายหลังใหม่ โดยที่มีการออกแบบไปแล้ว แต่ว่าไม่เป็นที่ถูกใจคณะกรรมการ ทั้งที่แบบนั้นทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยออกแบบให้ฟรี แต่ทางคณะกรรมการตำหนิว่า แบบนั้นออกมาแข็งกระด้างเกินไป ไม่เหมาะสมที่จะเป็นสะพานแขวนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ในโอกาสเจริญพระชนมายุ ๗๒ พรรษา จึงได้มีการออกแบบใหม่
เมื่อทำขึ้นมาแล้ว เราจะมีสะพานแขวนใหม่ ซึ่งโอ่อ่าอลังการ สมกับพระเกียรติยศ โดยที่กระผม/อาตมภาพได้รับคำแนะนำจากพันเอกวิเชียร ถิ่นวัฒนากูล ผู้ทรงคุณวุฒิของสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ ให้นำเอาปฏิมากรรมงานไม้ไผ่เข้ามาประกอบด้วย ซึ่งกระผม/อาตมภาพก็ต้องรอให้ทางด้านสะพานใหม่นี้สร้างเสร็จลง แล้วถึงจะได้ติดต่อทางผู้ที่มีความสามารถเกี่ยวกับปฏิมากรรมไม้ไผ่นี้ มาทำการออกแบบหัว กลาง และท้ายสะพาน ด้วยวัสดุไม้ไผ่ ซึ่งทางอำเภอทองผาภูมินั้นมีมาก และมีสัญลักษณ์ ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ด้วย ก็จะกลายเป็นสถานที่โอ่อ่าอลังการ เป็นจุดเช็คอินอีกจุดหนึ่งของอำเภอทองผาภูมิ เชื่อว่าจะสามารถดึงนักท่องเที่ยวให้อยู่กับทองผาภูมิมากขึ้น เพราะว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั้น เมื่อเราทำไปแล้ว ก็จะเหนื่อยยากเป็นพิเศษ จึงทำให้เป็นเรื่องที่ต้องอดทน อดกลั้น ต่อสู้ไป ด้วยกำลังใจที่หวังก็คือถ้าชาวบ้านเขาอยู่ดีกินดีแล้ว ก็จะได้มีอารมณ์เข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรม เพื่อความสงบชีวิตของตน เมื่อเป็นบุคคลที่มีศีล มีธรรม ก็จะได้สมกับคำว่า ชุมชนคุณธรรม นั่นเอง สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
__________________
........................ เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 27-01-2024 เมื่อ 02:28 |
สมาชิก 34 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน | ||
ขณะนี้มีคนกำลังดูกระทู้นี้อยู่ : 1 คน ( เป็นสมาชิก 0 คน และ บุคคลทั่วไป 1 คน ) | |
|
|