ดูแบบคำตอบเดียว
  #18  
เก่า 13-12-2010, 20:41
ชินเชาวน์'s Avatar
ชินเชาวน์ ชินเชาวน์ is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Oct 2008
ข้อความ: 260
ได้ให้อนุโมทนา: 13,956
ได้รับอนุโมทนา 50,192 ครั้ง ใน 1,278 โพสต์
ชินเชาวน์ is on a distinguished road
Default

ปลายชีวิตของหลวงพ่อเดิม

หลวงพ่อเป็นเสมือนต้นโพธิ์และต้นไทรที่มีกิ่งก้านสาขาแผ่ออกไปอย่างไพศาลเป็นที่พึ่งพาอาศัยของประชาชนไม่เลือกหน้า เนื่องจากหลวงพ่อมีอายุยืนยาวมาก บรรดาศิษยานุศิษย์รุ่นผู้ใหญ่ซึ่งเคยติดสอยห้อยตามและร่วมงานร่วมการกันมา ก็ล้มหายตายจากไปก่อนหลวงพ่อเกือบหมด ถ้าว่ากันอย่างฆราวาส ก็น่าจะทำให้หลวงพ่อว้าเหว่มาก

ครั้นต่อมาราว ๑๐ กว่าปี ก่อนหลวงพ่อมรณภาพ ร่างกายของหลวงพ่อซึ่งใช้กรากกรำทำสาธารณประโยชน์มาช้านานหลายสิบปี ก็ทรุดโทรมจนแข้งขาเดินไม่ได้ จะลุกนั่งก็ต้องมีคนพยุง จะเดินทางไปไหนก็ต้องขึ้นคานหามหรือขึ้นเกวียนไป

แม้กระนั้น ก็ยังมีผู้เลื่อมใสศรัทธามานิมนต์หลวงพ่อไปในงานการบุญกุศลเนือง ๆ เพราะหลวงพ่อมีศิษยานุศิษย์มาก ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยแทบทั่วบ้านทั่วเมือง หลวงพ่อปรารภว่าถ้าท่านแตกดับลง บรรดาหลานเหลนและศิษยานุศิษย์ในตำบลหนองโพและหมู่บ้านใกล้เคียง จะได้รับความลำบาก หลวงพ่อจึงได้ปรารภถึงความตายให้เห็นประจักษ์ สิ่งใดควรจัดทำขึ้นไว้ได้ก่อนท่านแตกดับ หลวงพ่อก็ให้จัดทำเตรียมไว้ เช่น สร้างหีบบรรจุศพของท่านเองและให้ก่อสร้างตัวเมรุที่เผาศพของท่านไว้ด้วย แต่บังเอิญตัวเมรุนั้นทำล่าช้ามาก ยังมิทันเสร็จ จนหลวงพ่อมรณภาพแล้ว

แม้แข้งขาของหลวงพ่อจะทานน้ำหนักตัวของท่านเองไม่ได้แล้ว หูก็ตึงไปบ้าง แต่นัยน์ตายังแจ่มใสดี มือก็ยังลงเลขยันต์ได้ตามเคย ปากก็ยังเสกเป่าและเจรจาปราศรัยได้ โดยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีตลอดมา

ภายหลังที่หลวงพ่อกลับจากไปเป็นประธานในงานก่อสร้างโบสถ์ในวัดอินทาราม (วัดใน) ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และกลับมาอยู่ในวัดหนองโพแล้ว ต่อมาหลวงพ่อก็เริ่มอาพาธ ตั้งแต่วันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ (ตรงกับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม) พ.ศ. ๒๔๙๔ อาการทรุดลงเป็นลำดับมา จนถึงวันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือนเดียวกัน วันที่ ๒๒ พฤษภาคม) อาการก็เพียบหนักขึ้น บรรดาศิษยานุศิษย์และหลานเหลนต่างพากันมาห้อมล้อมพยาบาลและฟังอาการกันเนืองแน่น ด้วยความเศร้าโศกห่วงใย เล่ากันว่า

ครั้นตกบ่ายในวันนั้น หลวงพ่อก็คอยแต่สอบถามอยู่ว่า ‘เวลาเท่าใดแล้ว’ ศิษย์ผู้พยาบาลก็กราบเรียนตอบไป ๆ จนถึงราว ๑๗.๐๐ น. หลวงพ่อจึงถามว่า ‘น้ำในสระมีพอกินกันหรือ’ (เพราะบ้านหนองโพมักกันดารน้ำดังกล่าวแล้ว) ศิษย์ที่พยาบาลอยู่ก็เรียนตอบว่า ‘ถ้าฝนไม่ตกภายใน ๖ - ๗ วันนี้ ก็น่ากลัวจะถึงกับอัตคัดน้ำ’ หลวงพ่อก็นิ่งสงบไม่ถามว่ากระไรต่อไปอีก ในทันใดนั้นกลุ่มเมฆก็ตั้งเค้ามาและฟ้าคะนอง มิช้าฝนก็ตกห่าใหญ่ น้ำฝนไหลลงสระราวครึ่งค่อนสระ พอฝนขาดเม็ด หลวงพ่อก็สิ้นลมหายใจ เมื่อเวลา ๑๗.๔๕ น. คำนวณอายุได้ ๙๒ โดยปี สิริรวมแต่อุปสมบทมาได้ ๗๑ พรรษา

บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้ช่วยกันสรงน้ำศพหลวงพ่อ แล้วบรรจุศพตั้งบำเพ็ญกุศล ณ วัดหนองโพ ตั้งแต่วันรุ่งขึ้น เว้นที่ ๒๓ พฤษภาคม) ติดต่อมาครบ ๗ วัน เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม แล้วก็ทำติดต่อมาอีกและทำบุญครบ ๕๐ วัน เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ทำบุญครบ ๑๐๐ วัน เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๙๔ จึงเก็บศพหลวงพ่อรอไว้ จนถึงเวลาจัดการพระราชทานเพลิง

หลวงพ่อเดิม ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามและยกย่องเป็น “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว” ซึ่งชาวนครสวรรค์ทุกคนยังเคารพให้ความนับถือหลวงพ่ออยู่เสมอ โดยเฉพาะทางวัดหนองโพได้สร้างมณฑปที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะของหลวงพ่อพระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิม ขนาดเท่าองค์จริง ซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านหล่อสร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งตั้งประดิษฐานอยู่ที่มณฑป ซึ่งมีประชาชนมากราบนมัสการทุกวันมิได้ขาด และทางวัดหนองโพได้จัดงานทำบุญประจำปีปิดทอง ไหว้พระรูปเหมือนหลวงพ่อเดิม ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี


รูปหล่อพระครูนิวาสธรรมขันธ์ (หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร)
ภายในวิหารหลวงพ่อเดิม ณ วัดหนองโพ ต. หนองโพ อ. ตาคลี จ. นครสวรรค์

โปรดติดตามตอนต่อไป...
รูป
ชนิดของไฟล์: jpg _119_195.jpg (31.5 KB, 496 views)
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 32 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา