ชื่อกระทู้: การรบกับกิเลส
ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 19-04-2009, 01:52
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,507
ได้ให้อนุโมทนา: 151,364
ได้รับอนุโมทนา 4,405,912 ครั้ง ใน 34,096 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

คราวนี้เมื่อเป็นทหาร การฝึกก็ต้องเหนื่อยยากเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าเราต้องมีความอดทนอดกลั้นเพียงพอ อันนี้อุดมการณ์สูงสุดของพระพุทธศาสนาเลย พระพุทธเจ้าทรงให้โอวาทปาฏิโมกข์บอกชัดเจนว่า ขันติ ปรมัง ตโป ตีติกขา ขันติ คือความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง วทันติ พุทธา ผู้รู้ทุกท่านล้วนแต่กล่าวว่า พระนิพพานคือสุดยอดของธรรม พระพุทธเจ้าท่านเอาขันติกับนิพพานรวมกัน ก็แปลว่าเราต้องอดทน อดกลั้น อดออมต่อสิ่งที่มากระทบ ต่อสิ่งที่มาเย้ายวนทุกประการ ซึ่งการอดทน อดกลั้น และอดออมนั้นก็คือการที่เราสู้รบกับกิเลส เพื่อฝ่าฟันไปยังพระนิพพาน

การสู้รบก็ต้องมีการแพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่ถ้าแพ้เมื่อไรเราต้องรู้จักทบทวน วิเคราะห์วิจัยว่าเราบกพร่องตรงไหน ? แล้วแก้ไขจุดอ่อนตรงนั้น อย่าปล่อยให้แพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า เดี๋ยวสักวันกิเลสจะนั่งยิ้ม..กวักมือเรียก..เขาก็ไม่มาหรอก...เสียเวลา...เพราะเราไม่มีคุณค่าพอที่เขาจะลงมือ ถ้าอย่างนั้นก็ขายหน้าไปสามโลก

ถ้าตราบใดที่กิเลสยังลงมือทดสอบเรา เล่นงานเรา ย่ำยีบีฑาเรา ขอให้ภูมิใจว่าเรายังมีคุณค่าพอที่เขาจะลงมือ ก็แปลว่าเราพอที่จะเป็นคู่ต่อสู้ของกิเลสได้ ในเมื่อแพ้บ้าง ชนะบ้าง ถ้าเรารู้จักวิเคราะห์วิจัยจุดอ่อนของตัวเองได้ ครั้งต่อไปตรงจุดนั้นเราจะไม่แพ้อีก เขาก็จะมาทางด้านอื่น แต่ที่มาก็ไม่เกินจากรัก โลภ โกรธ หลง ๔ ประการนี้ เพียงแต่ว่าแตกแง่มุมออกไปจนนับกระบวนท่าไม่ถูก ทั้ง ๆ ที่ท่าหลักก็มีอยู่แค่นี้แหละ ราคะมามุมนี้เราเคยพลาด พอตั้งท่ารับ เขาก็มามุมอื่น โทสะมามุมนี้เราเคยพลาด พอตั้งท่ารับ เขาก็มามุมอื่น ขอยืนยันว่าที่แสนรู้ที่สุดคือกิเลส ถ้ารู้ว่าเราสู้ได้ เขาจะไม่มาให้เสียเวลาหรอก เขาจะไปตรงที่เราสู้ไม่ได้

เมื่อวิเคราะห์วิจัย ป้องกันจุดอ่อนของตัวเองได้ ต่อไปเราก็มีโอกาสชนะได้บ้าง และถ้ามีความเพียรพยายามประกอบไปด้วยปัญญาก็คืออิทธิบาท ได้แก่ ฉันทะมีความพอใจทุ่มเท แม้กระทั่งชีวิตก็มอบให้ได้ มีวิริยะ พากเพียรกระทำไม่เห็นแก่เหนื่อยยาก ตัวตายก็ยอมเพื่อแลกกับความสำเร็จ จิตตะกำลังใจปักมั่นไม่ท้อถอย วิมังสา ไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ ว่าเราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? เป้าหมายของเรายังอยู่อีกห่างไกลเท่าไร ? ขณะนี้เรายืนอยู่จุดไหน ? จะก้าวต่อไปข้างหน้าถูกต้องตรงจุดแล้วหรือไม่ ? และมีปัญญาประกอบ รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา ผ่อนสั้นผ่อนยาว เขาแรงมาเราอ่อนก่อน ถ้าหากเขาอ่อนกำลังลงเราก็แข็งกล้ากลับไป ไม่ใช่เอาแต่กำลังไปปะทะในลักษณะน้ำเชี่ยวเอาเรือไปขวาง นั่นมีแต่จะจมตาย

ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เราก็จะมีพัฒนาการของตัวเอง กาย วาจา ใจ ของเราจะดีขึ้นเรื่อย ๆ แบบเดียวกับที่พระเณรท่านพิจารณาว่า บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า กาย วาจา ใจ ที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ เราต้องทำ กาย วาจา ใจ เหล่านั้นให้ได้ อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเฉย ๆ ภาษาทหารเขาบอกว่าอย่าหายใจทิ้ง เอาสติกำหนดรู้ไปด้วย พยายามแก้ไขสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่เข้ามาในใจของเรา ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นความดี แล้วอย่าเปิดโอกาสให้ความชั่วเข้ามาได้อีก

เมื่อทำอย่างนี้ได้แพ้ชนะก็จะเริ่มก้ำกึ่ง คราวนี้จะเกิดความมันในชีวิต เพราะต้องลุ้นว่าครั้งหน้าใครจะชนะ เหมือนมวยที่ต่อยกันแบบใครดีใครอยู่ หรือไม่ก็ฟุตบอลกำลังลุ้นว่าประตูต่อไปใครจะได้

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 11-06-2017 เมื่อ 15:59
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 106 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา