ดูแบบคำตอบเดียว
  #7  
เก่า 12-05-2009, 22:10
ณญาดา's Avatar
ณญาดา ณญาดา is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Mar 2009
ข้อความ: 27
ได้ให้อนุโมทนา: 12,017
ได้รับอนุโมทนา 34,841 ครั้ง ใน 741 โพสต์
ณญาดา is on a distinguished road
Default

เมื่อพระเจ้าปดุงทราบว่ากองทัพหน้าแตกพ่ายกลับมาอย่างสะบักสะบอม อีกทั้งเสบียงอาหารก็ขัดสนมาก
ไพร่พลของทัพหนุนก็เป็นไข้ป่าเจ็บป่วยล้มตายกันมาก เห็นควรว่าหากจะนำทัพเข้าต่อรบอีก ขวัญและกำลงใจของกองทัพก็ไม่มีเหลือแล้วจะพาให้ยับย่อยมากกว่านี้ จึงสั่งให้เลิกทัพ ทั้ง ๕ ทัพ ไพร่พลรวมกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ถอยกลับไปเมืองเมาะตะมะเสียในทันที

ส่วนทัพที่ ๒ ของพม่า เมื่อผ่านด่านบ่องตี้ ก็เข้ามาตั้งทัพอยู่ที่เขางูราชบุรี ด้วยขาดการติดต่อจึงไม่รู้ว่าทัพหน้าได้แตกพ่ายไปแล้ว จึงยังคงคุมเชิงอยู่ โดยที่ทัพที่ ๓ ของสยามก็ไม่รู้ข่าวว่าพม่าเข้ามาถึงเขางูแล้ว จนเมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ เสร็จจากศึกทุ่งลาดหญ้าแล้วยกทัพหมายช่วยหัวเมืองทางใต้ก็ผ่านมาบังเอิญเข้าปะทะกับทัพพม่าที่เขางูโดยไม่ทันรู้ตัว จึงเกิดการรบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน ทัพที่ ๒ พม่าจึงแตกพ่ายกลับไป

เมื่อนำทัพกลับพระนครได้ ๖ วัน ทรงปรึกษากับพระเชษฐาธิราช แล้วทรงแยกทัพเป็นสองทัพใหญ่ กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จยกทัพลงมาช่วยเหลือหัวเมืองปักษ์ใต้ที่ถูกพม่ายึดครอง ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยกทัพขึ้นหนุนทัพสยามทางภาคเหนือ

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงยกไปตั้งทัพปะทะพม่าที่ไชยา และตีเมืองนครศรีธรรมราช และในที่สุดกองทัพของชาวสยามก็สามารถขับไล่และทำลายกองทัพพม่าที่เหลืออีก ๓ ทัพออกไปจากผืนแผ่นดินไปได้จนสิ้น....“เก้าทัพต้องยับย่อย” ลงแล้ว

ส่วนพระเจ้าปดุง เมื่อพ่ายแพ้ศึกในมหายุทธสงคราม ๙ ทัพกลับไปก็มีแต่ความอัปยศอดสู เพราะไม่เคยทำสงครามพ่ายแพ้ผู้ใดมาก่อน เพิ่งมาแพ้ต่อสยามเป็นครั้งแรก ปีต่อมาก็ยังส่งกองทัพใหญ่หวังจะมาแก้มืออีก แต่ก็ต่อรบได้เพียงสามวัน ในสมรภูมิสามสบและท่าดินแดง ค่ายพม่าก็แตกพ่าย ไพร่ทหารล้มตายเป็นอันมาก อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. ๒๓๓๐ พระองค์ก็ยังคงดื้อดึงที่จะส่งกองทัพกลับมาหมายจะยึดหัวเมืองเหนือคืนจากสยามอีกครั้ง ก็ถูกกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทขับไล่ออกไปอีก

ตลอดระยะเวลา ๑๗ ปีนับแต่ปี ๒๓๒๘ – ๒๓๔๕ พระเจ้าปดุงผู้ยิ่งใหญ่ได้ทุ่มเทกำลังทางทหารและทรัพย์สินมากมายในความพยายามอย่างไร ้ผลถึง ๕ ครั้งที่จะเอาชนะต่อชาวสยาม ดังเช่นที่พระเจ้าเซงพยูเชงหรือมังระเคยพิชิตมาแล้ว ความอวดดีและหลงทะนงตนในครั้งนี้ จักรพรรดิราชาพม่าจึงต้องสูญเสียดินแดนเชียงใหม่และหัวเมืองเหนือที่เคยเป็น เมืองขึ้นให้แก่อาณาจักรสยามอย่างถาวร

ใน เวลาเดียวกันรัฐมอญ กะเหรี่ยงและยะไข่ ล้วนต่างได้ก่อกบฏแข็งข้อขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อต่อต้านกับการขูดรีด ภาษีและเสบียงเพื่อไปใช้ในการสงครามตลอดเวลา

เมื่อไม่สามารถสร้างตนเป็นจักรพรรดิราชาแห่งโลกจากการ "พระราชสงคราม" ยึดครองแว่นแคว้นรอบด้านได้เฉกเช่นกษัตริย์พม่าในอดีต พระเจ้าโบดอพญาผู้หยิ่งในศักดิ์ศรีจึงหันมาเสริมสร้างพระเกียรติยศโดยทรง ประกาศตัวเป็น “พระโพธิสัตว์สูงสุดแห่งโลก” แทนจักรพรรดิราชาผู้ครองชมพูทวีป ทรงประกาศตนเป็นองค์ศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนาด้วยความพยายามสร้างมหาสถูปขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เมืองมินกุน (Mingun) ที่ตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำอิระวดีจากเมืองอมรปุระขึ้น

จากองค์ศาสนูปถัมภก กลายมาเป็นความหมกมุ่น หลงใหล คลั่งไคล้ ในความเชื่อทางศาสนา จนละเลยความรับผิดชอบในการปกครองบ้านเมือง นำพม่าเข้าไปสู่ยุคเสื่อมถอย เกิดความเหลื่อมล้ำ การทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และโจรปล้นสดมภ์กระจายไปทั่ว กษัตริย์แห่งรัฐฉานก็ถูกทำลายพระเกียรติยศ จนนำไปสู่ความไม่ศรัทธาต่อราชวงศ์คองบองและการปราบกบฏชายแดนอินเดียจนเกิดเป็นกรณีพิพาทกับอาณานิคมของอังกฤษที่จิตตะกอง

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เด็กเมื่อวานซืน : 14-05-2009 เมื่อ 08:31
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 86 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ณญาดา ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา