ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 15-01-2015, 11:34
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,526
ได้ให้อนุโมทนา: 151,473
ได้รับอนุโมทนา 4,406,502 ครั้ง ใน 34,116 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๘

ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกไว้ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒-๓ ครั้ง เพื่อระบายลมหยาบออกให้หมดก่อน หลังจากนั้นค่อยปล่อยให้ลมหายใจเป็นไปตามปกติของร่างกาย เพียงแต่เราเอาความรู้สึกแนบติดชิดกับลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม การกำหนดลมหายใจนั้น จะเอาสัมผัสจุดเดียว ๓ จุด ๗ จุด หรือว่ารู้ตลอดกองลมก็ได้

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ เป็นการปฏิบัติธรรมรับปีใหม่ของเรา ขึ้นชื่อว่าปีใหม่ ก็เป็นความนิยม เป็นค่านิยมอย่างหนึ่ง ว่าควรที่จะทำอะไรใหม่ ๆ หรือว่ากระทำในสิ่งที่ดี ๆ เพื่อความโชคดีมีชัยของเรา การที่เรามาปฏิบัติธรรมนั้น ก็ถือว่าเป็นการกระทำความดี ที่ถือว่าเป็นความดีสูงสุดในพระพุทธศาสนา เนื่องจากว่าระดับของการปฏิบัติธรรมนั้น จัดอยู่ในปรมัตถบารมี

ถ้าเป็นสามัญบารมี จะสามารถให้ทานได้ แต่ว่ารักษาศีลหรือว่าเจริญภาวนาไม่ได้ ถ้าเป็นอุปบารมี สามารถให้ทานได้ รักษาศีลได้ แต่ว่าเจริญภาวนาไม่ได้ ดังนั้น..การที่เรามาปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นการทำความดีสูงสุดในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นบุญกิริยาวัตถุอันใหญ่ คือในบุญกิริยาวัตถุ (สิ่งที่เรากระทำแล้วเป็นบุญ) ๑๐ ประการนั้น ท่านยกเอาในเรื่องของทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล และภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา จัดเป็นบุญใหญ่ที่สุดในบุญทั้ง ๑๐ ประการ

คราวนี้พวกเราทั้งหลายนั้น เรื่องของการให้ทานถือว่าทำได้เป็นปกติ ไม่มีความหนักใจในการให้ บางคนถึงขนาดแม้แต่ตัวเองเดือดร้อน ก็ขอให้ได้ทำทาน ขอให้ได้ทำบุญก่อน ซึ่งความจริงการกระทำลักษณะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ เนื่องเพราะว่าการทำบุญนั้น ควรทำในลักษณะที่ไม่ทำให้ทั้งตนเองและคนรอบข้างต้องเดือดร้อน แต่สำหรับบางท่านที่กำลังใจมาในสายของพระโพธิสัตว์ แม้แต่ชีวิตก็สละเป็นทานได้ ก็ถือว่าเป็นกำลังใจที่อยู่ในอีกระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น..ถ้าท่านทั้งหลายเหล่านี้ทำบุญ ในลักษณะที่ทำให้ตนเองและคนรอบข้างเดือดร้อน เราก็อย่าไปเลียนแบบปฏิปทาเช่นนั้น

ในส่วนของการรักษาศีลนั้น พวกเราส่วนใหญ่ร้อยละเกือบทั้งร้อย สามารถรักษาศีลได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ที่มีขาดตกบกพร่องบ้าง ก็เร่งรัดการปฏิบัติของตนเองให้มากขึ้น ต้องเป็นผู้ที่ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ถ้าหากสามารถทำอย่างนี้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำได้แล้ว ก็แปลว่าในส่วนของบุญใหญ่ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง คือการให้ทานกับรักษาศีลนั้น เรามีเป็นปกติแล้ว

ก็เหลือแต่ในส่วนของภาวนามัย คือบุญที่สำเร็จด้วยการภาวนา ซึ่งดู ๆ แล้วน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายที่สุด เพราะว่าไม่ต้องเสียของ ก็คือการให้ทานซึ่งสละเป็นวัตถุ ก็ไม่ต้องระมัดระวังควบคุม กาย วาจา ของตนในการรักษาศีล เราเพียงแต่ควบคุมใจของเรา ให้อยู่ในกรอบของความดีเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่รักษาได้ยากที่สุด ปฏิบัติได้ยากที่สุด เพราะว่าจิตของเรามีสภาพความเร็วมาก เมื่อถึงเวลาคิดชั่ว ชวนร่างกายให้พูดชั่ว ชวนร่างกายให้ทำชั่ว ถ้าสติของเราไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ ก็ไม่สามารถที่จะหักห้ามได้ทัน
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-01-2015 เมื่อ 12:08
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 52 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา