ดูแบบคำตอบเดียว
  #14  
เก่า 03-12-2010, 15:02
ชินเชาวน์'s Avatar
ชินเชาวน์ ชินเชาวน์ is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Oct 2008
ข้อความ: 260
ได้ให้อนุโมทนา: 13,956
ได้รับอนุโมทนา 50,192 ครั้ง ใน 1,278 โพสต์
ชินเชาวน์ is on a distinguished road
Default

ปรับปรุงบ้านและวัดหนองโพ

หลวงพ่อคงจะได้คิดที่จะปรับปรุงฟื้นฟูสภาพและความเป็นอยู่ของบ้านและวัดหนองโพมานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่เริ่มอุปสมบท ดังจะเห็นได้ในตอนต้น ซึ่งพออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อก็เริ่มสร้างศาลาการเปรียญ และต่อมาก็สร้างกุฏิฝาไม้กระดานขึ้น เมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๕ ตรงที่ซึ่งเป็นบริเวณกุฏิสมภารในบัดนี้

ท่านผู้อ่านย่อมจะทราบได้ดีว่าบ้านและวัดหนองโพตั้งอยู่ในที่ดอนและห่างจากลำน้ำเจ้าพระยา ในฤดูฝน ได้อาศัยน้ำฝนที่ตกขังอยู่ แต่ในฤดูแล้งมักจะกันดารน้ำแทบทุกปี ถ้าปีใดฝนตกล่าไปจนถึงปลายเดือน ๖ เดือน ๗ ก็อดน้ำ หลวงพ่อได้ขุดขยายสระน้ำในวัดให้ลึกและกว้างขึ้น แต่ประชาชนชาวบ้านก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลวงพ่อจึงพยายามขยายสระน้ำให้ลึกและใหญ่กว้างอีกหลายครั้ง

อีกอย่างหนึ่ง โดยเหตุที่แต่เดิมมา บ้านหนองโพตั้งอยู่ห่างไกลจากเส้นทางคมนาคม อันจะนำเอาความเจริญแบบต่าง ๆ มาสู่ท้องถิ่น ความเจริญแบบใหม่จึงเดินทางเข้าไม่ค่อยถึงหมู่บ้าน และเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก แม้เมื่อมีทางรถไฟสายเหนือผ่านไป และตั้งสถานีรถไฟที่สถานีหนองโพ (๕) ณ ตำบลนั้น ก็คงห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร

(๕) สถานีหนองโพ ตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ ๒๑๑ จากกรุงเทพฯ


แม้กระนั้น ก็ด้วยบารมีของหลวงพ่อ ทำให้มีผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ห่างไกล อุตสาหะทรมานกายไปมาหาสู่หลวงพ่อจนถึงวัดเนือง ๆ เจ้านายที่เคยเสด็จไปหาหลวงพ่อถึงวัดก็มี อาทิเช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอลงกต กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ องคมนตรี ซึ่งเสด็จล่วงลับไปแล้ว


พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ต่อมาหลวงพ่อได้พยายามสร้างถนนจากที่ตั้งสถานีรถไฟ ตัดตรงเข้าไปในหมู่บ้าน เมื่อตัดสร้างถนนตอนแรกนั้น ถ้ายืนอยู่ที่สถานีหนองโพจะมองไปเห็นโบสถ์ในวัดหนองโพตั้งอยู่ลิบ ๆ และเมื่อยืนอยู่ที่ลานหน้าโบสถ์ในวัดก็มองเห็นโรงสถานีรถไฟบ้านหนองโพได้เช่นกัน ทำให้การคมนาคมระหว่างหมู่บ้านกับรถไฟสะดวกสบายเป็นอันมาก แต่ถนนที่หลวงพ่อสร้างขึ้นไว้นั้น เป็นแค่ขุดคูพูนดินให้นั้นขึ้นเป็นทางเดิน มิได้ลงหินราดบดโรยลูกรัง เช่นถนนที่สร้างกันในสมัยนี้ และขาดการซ่อมแซมในระยะติดต่อกันมา เมื่อใช้มาหลายปีถูกน้ำฝนเซาะบ้าง สัตว์พาหนะเดินบ้าง ภายหลังเป็นถนนที่ขาดเป็นตอน ๆ และบางตอนก็มีต้นไม้ขึ้นจนเติบโตบังทิวทัศน์ที่จะมองเห็นกันได้ระหว่างตัวสถานีรถไฟกับวัดเช่นแต่ก่อน

หลวงพ่อได้ดำริที่จะซ่อมแซมถนนสายนี้เป็นทางคมนาคมที่ดี และสะดวกสบายแก่การสัญจรไปมา แต่เนื่องจากมีภาระในงานก่อสร้างอย่างอื่น จึงมิทันได้ลงมือทำก็มาถึงแก่มรณภาพไปเสียก่อน ปัญหาเรื่องถนนสายนี้จึงยังคงค้างมาจนถึงสมัยหลวงพ่อน้อย (พระครูนิพนธ์ธรรมคุต) เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพ และดำเนินงานพัฒนาโดยการร่วมริเริ่มของบรรดาลูกชาวบ้านหนองโพ ติดต่อชักจูงทางการให้ตัดถนนแยกจากทางหลวงสายเอเซีย ณ จุดใกล้กิโลเมตรที่ ๑๙๐ - ๑๙๑ ผ่านเข้าไปถึงหมู่บ้านหนองโพ และเลยไปถึงสถานีรถไฟหนองโพแล้ว
รูป
ชนิดของไฟล์: jpg prince-choomporn.jpg (10.8 KB, 600 views)
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา