ดูแบบคำตอบเดียว
  #508  
เก่า 10-07-2020, 15:16
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,833 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

บริขารของพระป่า

เกี่ยวกับเรื่องบริขารที่จำเป็นต้องใช้นั้น ในปฏิปทาของพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็มีแบบอย่างที่ท่านพาปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงวันนี้ โดยมากท่านก็ยึดถือปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ค่อยจะมีอะไรแปลกประหลาด หรือพิสดารแหวกแนว ออกนอกลู่นอกทาง ปกติพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ค่อยจะส่งเสริมให้พระเณรในวัดป่าบ้านตาด มาหมกมุ่นเกี่ยวกับการจัดทำบริขารต่าง ๆ มากนัก เพราะองค์ท่านเองเคยทำกลดเพียงคันหนึ่ง แล้วเป็นเหตุให้จิตเสื่อมไปเป็นปี กว่าจะรื้อฟื้นจิตใจให้มีสมาธิกลับคืนมาได้ดังเดิม ก็ต้องผ่านความทุกข์ทรมานเพราะจิตเสื่อมมาอย่างสุดแสนสาหัส

เพราะเหตุนั้น องค์ท่านจึงต้องเข้มงวดกวดขัน และคอยป้องกัน ไม่ให้มีการงานใด ๆ มาเป็นภัยต่อจิตภาวนาของพระเณร อันจะเป็นเหตุทำให้จิตใจเหินห่างจาก “พุทโธ” และอีกอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานของสมาธิจิตมั่นคงดีแล้ว ก็ยังเป็นเหตุให้สมาธิเสื่อมได้ เพราะการทำบริขารแม้เพียงการทำกลดคันเดียว ยังไม่ทันแล้วเสร็จ.. สมาธิที่เคยเข้าได้ตลอดเวลา ก็เริ่มปรากฏเข้าได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จนถึงขั้นสมาธิอันตธานไม่หลงเหลือเลย ดังที่องค์ท่านได้เผชิญมาแล้ว และเห็นโทษของความที่จิตเสื่อมอย่างถึงใจ

แต่ถึงกระนั้น องค์ท่านก็ไม่ได้ห้ามมิให้พระเณรจัดทำบริขารเสียเลยทีเดียว เพราะความสำคัญเกี่ยวกับบริขารที่จำเป็นต้องใช้ก็ยังคงมีอยู่ และเป็นสิ่งที่พระเณรต้องพึ่งพาอาศัยไปตลอดชีวิตนักบวช ดังนั้น การศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ และฝึกหัดทำบริขารให้เป็นด้วยตนเอง ก็นับว่ามีความจำเป็น ปรารภว่า “พระเณรควรศึกษาและฝึกหัดทำบริขารให้เป็นบ้าง อย่างน้อยก็คนละอย่างสองอย่างก็ยังดี เพื่อช่วยกันรักษาแบบอย่างบริขารที่ถูกต้อง และปฏิปทาอันดีงามของครูบาอาจารย์ ให้กุลบุตรผู้มาสุดท้ายภายหลัง ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาในภายภาคหน้าต่อไป หากพระเณรพากันทอดธุระเสียแล้ว ต่อไปใครจะมาทำบริขารที่ถูกต้องให้พระเณรได้ใช้กัน

ก็จริงอย่างนั้นทีเดียว หากพระเณรทำบริขารกันเองไม่ได้แล้ว ก็คงจะต้องไปพึ่งบริขารจากร้านค้า ซึ่งก็ทำมาผิดบ้าง ถูกบ้าง ใช้ได้บ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ เพราะคนทำก็ทำมาเพียงเพื่อขอให้ขายได้ บางเจ้าก็ทำดี บางเจ้าก็ทำไม่ดี ส่วนคนซื้อก็สักแต่ว่าซื้อ เพียงเพื่อให้มีของได้ถวายพระ เรียกว่ามีศรัทธาเต็มเปี่ยม แต่ขาดปัญญาใคร่ครวญ ส่วนผู้ใช้คือพระเณรก็ไม่ได้ซื้อหามาเอง เขาเอามาถวายก็จำต้องฉลองศรัทธากันไปตามมีตามได้.. ใช้ได้บ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง ก็ทน ๆ กันไป เรื่องมันก็เข้าตำราว่า “คนซื้อก็ไม่ได้ใช้ คนใช้ก็ไม่ได้ซื้อ คนทำก็สนุกขายกันไปเรื่อย ๆ” นี่คือความจริงในยุคปัจจุบัน

ดังนั้น การที่พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ถึงกับส่งเสริมพระเณรในเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องฝึกหัดทำบริขารให้เป็น แม้องค์ท่านเอง พวกลูกศิษย์ก็ทราบกันดีว่า องค์ท่านมีฝีมือในการตัดเย็บจีวรที่ทั้งรวดเร็วและสวยงามไม่ธรรมดาเลย ดังนั้น การที่องค์ท่านไม่ส่งเสริม แต่ก็ไม่ถึงกับห้าม และยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการจัดทำบริขารอีกด้วย จึงน่าจะเป็นอุบายที่มุ่งสอนให้พระเณรรู้จักรักษาตนเอง มิให้เรื่องบริขารอันเป็นของภายนอก มาทำลายสาระสำคัญทางด้านภายในคือจิตภาวนานั่นเอง

จะเห็นได้จากการที่วัดป่าบ้านตาดรับกฐินในแต่ละปี พ่อแม่ครูอาจารย์จะพาพระเณรกรานกฐิน และอนุโมทนากฐินทุกครั้งไป การกรานกฐินนั้น ต้องได้เอาผ้ากฐินมา กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้ได้สีและเสร็จทันในวันนั้น ให้เป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง โดยมากก็ใช้เย็บเป็นสบง เพื่อให้ทันกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด และต้องได้ภิกษุผู้มีความสามารถ มีความชำนาญการ กะ ตัด เย็บ ย้อม จึงจะสำเร็จประโยชน์ ใช้ได้ทันกับเวลา

เมื่อกรานกฐินแล้ว ก็เป็นช่วงที่พระเณรจะออกเดินธุดงค์ เพื่อหาที่สงบสงัดบำเพ็ญเพียรภาวนาในป่าในเขาตามอัธยาศัย การกรานกฐินจะอยู่ในช่วงจีวรกาลสมัย สำหรับภิกษุที่ต้องการจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ก็ต้องช่วยกันตัดเย็บจีวร ในครั้งพุทธกาลนั้น ถือว่าการตัดเย็บจีวรแต่ละครั้ง เป็นงานใหญ่ที่พระเณรต้องช่วยกันทั้งวัดเลยทีเดียว ในครั้งพุทธกาล แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังได้เสด็จมาช่วยพระภิกษุสงฆ์ทำจีวรในครั้งนั้นด้วย

ส่วนที่วัดป่าบ้านตาดนั้น เมื่อรับกฐินแล้ว พ่อแม่ครูอาจารย์ก็อนุญาตให้พระเณรตัดเย็บจีวรกันได้ โดยใช้ศาลาด้านใน ชั้นบน แต่องค์ท่านก็เข้มงวดกวดขันให้ตัดเย็บเป็นเวล่ำเวลา พอถึงเวลาทำข้อวัตรปัดกวาดก็ต้องหยุดทันที และหากมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อไปนานหลายวัน ก็จะพูดเตือนสติให้พระเณรได้คิด และรู้จักความพอเหมาะพอดีในการจัดทำบริขาร เพื่อไม่ให้พระเณรเหินห่างจากจิตภาวนานานมากเกินไป

สำหรับพระป่านั้น เรื่องบริขารท่านมักจะจัดทำกันเอง เพราะจะมีพระที่เก่งในการทำบริขารแต่ละอย่างตามจริตนิสัย บางองค์ก็เก่งเย็บจีวร บางองค์ก็เก่งทำขาบาตร บางองค์ก็เก่งทำกลด เป็นต้น ซึ่งบริขารแต่ละอย่างนั้นกว่าที่จะทำได้สำเร็จ ก็ต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกหัดมาเป็นอย่างดี และต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมากมายเลยทีเดียว สำหรับผู้ที่มีฝีมือในการทำบริขาร ส่วนใหญ่ท่านมักทำถวายครูบาอาจารย์ หรือสงเคราะห์แก่หมู่คณะที่ขาดแคลนตามโอกาสอันควร และถ่ายทอดวิชาสืบต่อกันมาในวงกรรมฐานด้วยกัน

สำหรับบริขารที่พระป่านิยมทำกันเองนั้นก็มี การตัดเย็บสบง จีวร สังฆาฏิ ผ้าอังสะ ผ้าปูนั่ง ผ้าอาบน้ำ การทำถลกบาตร (สบบาตร) ขาบาตร กลด มุ้งกลด และเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น การทำไม้สีฟัน (ไม้เจีย) ทำไม้กวาดสำหรับกวาดลานวัด เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งบางอย่างจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัย และบางอย่างก็จำเป็นต้องศึกษากรรมวิธีเป็นการเฉพาะ และมีครูบาอาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอด จึงจะสามารถทำได้โดยถูกต้องและเหมาะกับการใช้งาน ดังนั้น หากพระเณรไม่ตั้งอกตั้งใจศึกษากันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็ไม่อาจจะรักษาปฏิปทาในส่วนนี้ไว้ได้

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-07-2020 เมื่อ 17:04
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 12 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา