ดูแบบคำตอบเดียว
  #109  
เก่า 10-09-2012, 09:44
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,833 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

เคร่งครัดข้อวัตรปฏิบัติ พูดคุยเป็นอรรถธรรม

ในปีแรกที่ได้อยู่ศึกษากับหลวงปู่มั่น ท่านก็ได้ยินหลวงปู่มั่นพูดถึงเรื่องธุดงควัตร ๑๓ เพราะหลวงปู่มั่นเคร่งครัดมากตามนิสัย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงถือเป็นข้อปฏิบัติเสมอมา ในการสมาทานธุดงค์เมื่อถึงหน้าพรรษาอย่างไม่ลดละ เฉพาะอย่างยิ่งในธุดงค์ข้อที่ว่า ฉันอาหารเฉพาะของที่ได้มาในบาตรจากการบิณฑบาตเท่านั้น สำหรับธุดงค์ข้ออื่น ๆ ก็ถือสมาทานอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เช่น การฉันหนเดียวในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น การถือผ้าบังสุกุล การใช้ผ้าสามผืน (สบง จีวร สังฆาฏิ) การฉันในบาตร การอยู่ป่าเขา เป็นต้น

ธุดงค์ ๑๓* และขันธวัตร ๑๔ เป็นข้อปฏิบัติประจำโดยทั่วไปของพระกรรมฐาน ยิ่งนิสัยที่เคารพรักและจริงจังในข้อวัตรปฏิบัติของท่านด้วยแล้ว ก็ยิ่งให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ท่านจึงไม่ยอมให้ข้อวัตรทำความสะอาดเช็ดถูกุฏิ ศาลา บริเวณ ตลอดข้อวัตรใด ๆ ขาดตกบกพร่องเลย ท่านพยายามรักษาทั้งความตรงต่อเวลา ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความพร้อมเพรียงกันในการทำข้อวัตรปฏิบัติ ความละเอียดถี่ถ้วน ความคล่องแคล่ว ไม่เหนื่อยหน่ายท้อแท้อ่อนแอ ทำสิ่งใดให้ทำอย่างมีสติ ใช้ปัญญาพินิจพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบ ไม่ทำแบบใจร้อนใจเร็ว การหยิบจับวางสิ่งใดจะพยายามมิให้มีเสียงดัง

ข้อวัตรต่าง ๆ เหล่านี้ พระเณรท่านจะช่วยกันดูแลรับผิดชอบบริเวณอย่างทั่วถึง ตั้งแต่กุฏิหลวงปู่มั่น กุฏิตนเอง ศาลา ทางเดิน ตลอดแม้ในห้องน้ำ ห้องส้วม มีการเติมน้ำใส่ตุ่มใส่ถังให้เต็ม ไม่ให้พร่อง และข้อปฏิบัติต่าง ๆ เช่นนี้ พระเณรท่านจะพยายามทำอย่างตั้งใจ สมกับที่ท่านเป็นสมณะผู้รักความสงบ สะอาด และรักธรรมรักวินัย

การปฏิบัติจิตภาวนาเป็นงานหลักอันสำคัญที่สุด ดังนั้นในแต่ละวัน ท่านจึงพยายามพูดคุยแต่น้อย หากมีความจำเป็นต้องพูดสนทนากันบ้าง ก็ให้มีเหตุผล มีอรรถธรรม ไม่พูดคะนอง เพ้อเจ้อ หยาบโลน พูดตามความจำเป็น และเป็นไปเพื่อความเจริญในธรรม การตักเตือนชี้แนะหมู่คณะภิกษุสามเณรให้เป็นไปด้วยความเมตตากรุณาต่อกัน เพื่อให้รู้ให้เข้าใจคุณและโทษจริง ๆ ดังนี้

“...ควรพูดคุยกันในเรื่องความมักน้อย สันโดษ ความวิเวกสงัด ความไม่คลุกคลีซึ่งกันและกัน พูดในเรื่องความเพียร ศีล สมาธิ ปัญญา ในการต่อสู้กิเลส ... พระในครั้งพุทธกาล ท่านไม่ได้คุยถึงการบ้านการเมือง การได้การเสีย ความรื่นเริงบันเทิง การซื้อการขายอะไร ท่านมีความระแวดระวังว่า อันใดจะเป็นภัยต่อความเจริญทางจิตใจของท่าน ท่านจะพึงละเว้นหลบหลีกเสมอ ส่วนสิ่งใดเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้จิตใจมีความหนักแน่น มั่นคง จนสามารถถอดถอนกิเลสออกได้เป็นลำดับลำดานั้น ควรส่งเสริมให้มีมากขึ้น ให้สูงขึ้น...”



================================================

* ธุดงควัตร ๑๓ หลักปฏิบัติเพื่อการปราบปรามกิเลส ประกอบด้วย

๑. บิณฑบาตเป็นวัตร (พระเณรส่วนใหญ่จะปฏิบัติข้อนี้ เพราะถ้าไม่บิณฑบาตก็จะไม่มีอาหารฉัน)

๒. บิณฑบาตตามลำดับบ้าน

๓. ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง

๔. ฉันในบาตร (นอกจากจะฉันในบาตร องค์หลวงตายังฉันด้วยมือเท่านั้น)

๕. ฉันวันละครั้งเท่านั้น (พระวัดป่าจะฉันมื้อเช้าเพียงมื้อเดียวเรียกว่า ฉันจังหัน และเมื่อลุกจากที่นั่งแล้วก็จะไม่ฉันอีก ซึ่งวัตรข้อนี้เป็นข้อที่องค์หลวงตาปฏิบัติจนถึงวันที่ท่านมรณภาพ)

๖. ถือผ้าสามผืน

๗. ถือผ้าบังสุกุล

๘. อยู่รุกขมูลร่มไม้ (อยู่โคนต้นไม้)

๙. อยู่ป่า

๑๐.อยู่ป่าช้า

๑๑.อยู่กลางแจ้ง

๑๒.อยู่ในเสนาสนะ (ที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ เช่น กุฏิ วิหาร ศาลา) ที่เขาจัดให้

๑๓.ถือไม่อยู่ในอิริยาบถนอน (ไม่ติดการนอน)

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-09-2012 เมื่อ 16:35
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา