ดูแบบคำตอบเดียว
  #16  
เก่า 08-12-2010, 22:15
ชินเชาวน์'s Avatar
ชินเชาวน์ ชินเชาวน์ is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Oct 2008
ข้อความ: 259
ได้ให้อนุโมทนา: 13,956
ได้รับอนุโมทนา 50,227 ครั้ง ใน 1,280 โพสต์
ชินเชาวน์ is on a distinguished road
Default

จัดการศึกษาด้านศิลปะ


เมื่อหลวงพ่อตั้งโรงเรียนสำหรับให้กุลบุตรกุลธิดาได้เล่าเรียนหนังสือกันในตอนแรก ๆ นั้น หลวงพ่อก็หาวิธีให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนความรู้อย่างอื่นด้วย เช่น สร้างสำนักขึ้นสอนดนตรีปี่พาทย์ คราวแรกหลวงพ่อเป็นแต่ทดลองโดยเข้าหุ้นส่วนกับนายนิลไปซื้อเครื่องปี่พาทย์มาแล้วหาคนไปให้นายนิลช่วยฝึกหัด แต่นายนิลจะทำไม่สำเร็จอย่างไรไม่ทราบ หลวงพ่อจึงย้ายมาร่วมมือกับนายพวง แต่ในตอนนั้นยังคงให้หัดและสอนกันในบ้าน ภายหลังย้ายมาตั้งฝึกสอนในวัดแล้วจ้างครูมาสอนประจำ

ตั้งวงยี่เกขึ้นหาคนมาหัดเป็นประจำ และครูหัดยี่เกคนแรกคือ ครูปุ่น เป็นคนชาวบ้านพยุหะแด่น เป็นครูควบคุมและฝึกรำ ส่วนแง่คิดในการเล่นการแสดงเป็นของหลวงพ่อ ศิษย์หัดยี่เกรุ่นแรกครั้งนั้นต่างก็ล้มหายตายจากไปนานแล้ว

ครูยี่เกคนต่อมาก็คือ ครูโชติ แล้วมาครูวิง และต่อมาก็คือ ครูทองคำ (นิ้วด้วน) ได้ตั้งแตรวงขึ้นคราวหนึ่ง มีครูบุญเหลือเป็นผู้หัด แต่มิช้าก็เลิกเสียเพราะครูบุญเหลือลาออกไปและหาครูคนอื่นมาสอนสืบต่อไม่ได้

ภายหลังได้สร้างเรือนให้พวกปี่พาทย์อยู่เป็นประจำเรียกกันว่า “โรงปี่พาทย์” ตั้งอยู่ริมรั้ววัดทิศเหนือ ครูปี่พาทย์คนแรกก็คือ ครูอุ้ย แล้วต่อมาก็คือครูพุฒ (เรียกกันว่าพุฒหน้าดำ หรือ พุฒทศกัณฐ์) ต่อมาครูแย้ม (ตาบอดทั้งสองข้าง)

เครื่องปี่พาทย์หลวงพ่อก็สร้างเอง เว้นแต่เครื่องโลหะ เช่น ฆ้องโหม่งและฆ้องวง ส่วนระนาดทั้งไม้ทั้งเหล็กและกลองนั้น หลวงพ่อลงมือทำเอง เหลาลูกระนาดไม้และลูกระนาดเหล็กเองโดยมีพวกพระภิกษุในวัดซึ่งเป็นศิษย์เป็นผู้ช่วย สามารถทำได้ประณีตประกับรางเลี่ยมงาเลี่ยมมุกและเลี่ยมโลหะได้งดงาม กลองก็ขุดและกลึงเอง ขึงหน้าขึ้นกลองเอง ตอกหมุดเอง หมุดกลองนั้นใช้ทำด้วยกระดูกควาย กระดูกช้าง หรือแก่นไม้แสมสาร เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กวัดก็ได้เคยเป็นลูกมือศิลปกรรมด้านนี้ของหลวงพ่อด้วย

วัดหนองโพชึ่งเคยเป็นสำนักศึกษาตามแบบโบราณมาแต่สมัยหลวงพ่อเฒ่า และนับแต่หลวงพ่อเฒ่าได้ล่วงลับไปแล้ว ก็เสื่อมโทรมลงโดยลำดับ ครั้นต่อมาถึงสมัยหลวงพ่อเดิม ท่านได้พยายามปรับปรุงการศึกษาของวัดและความเป็นไปของหมู่บ้านขึ้นใหม่ ในระยะเมื่อราว ๘๐ - ๑๐๐ ปีมาแล้วนี้ วัดหนองโพจึงกลับเป็นสำนักศึกษาศิลปวิทยาการที่สำคัญขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง

พวกเด็กในบ้านหนองโพและตลอดไปถึงตำบลอื่น ๆ ใครอยากเรียนหนังสือก็มาเข้าโรงเรียน ใครอยากหัดปี่พาทย์ระนาดฆ้อง ก็ไปหัดปี่พาทย์ระนาดฆ้อง ใครอยากหัดยี่เกก็ไปหัดยี่เก ถ้าไม่ชอบเรียน ชอบหัดดังกล่าวแล้ว ก็ไปเลี้ยงช้างเลี้ยงม้า เพราะหลวงพ่อมีช้างหลายเชือกและมีม้าหลายตัว

หลวงพ่อพยายามนำความเจริญแทบทุกทาง มาสู่หมู่บ้านหนองโพ เสมือนจะสร้างบ้านให้เป็นเมือง
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 30 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ชินเชาวน์ ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา