ชื่อกระทู้: ช่างสิบหมู่
ดูแบบคำตอบเดียว
  #23  
เก่า 24-03-2009, 08:47
วาโยรัตนะ วาโยรัตนะ is offline
สมาชิก VIP - ผู้ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 550
ได้ให้อนุโมทนา: 13,972
ได้รับอนุโมทนา 45,909 ครั้ง ใน 953 โพสต์
วาโยรัตนะ is on a distinguished road
Default

งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว

งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว หรืออย่างที่คนส่วนมากเรียกสั้นๆ ว่า "ลงรักปิดทอง" คือกระบวนการตกแต่ง ผิวภายนอกของศิลปวัตถุหรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีด้วยการลงรักหรือทายางรัก แล้วปิดด้วยทองคำเปลวทับทำให้ผิวของศิลปวัตถุหรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมบางสิ่ง เป็นสีทองดำ เหลืองอร่ามและเป็นมันวาวเหมือนหนึ่งว่าทำด้วยทองคำอันเป็นความเชื่อโดยขนบนิยมในสังคมไทยมาแต่โบราณกาล
งานช่างลงรักปิดทองคำเปลวได้ทำการที่เป็นงานปิดทองเป็น ๔ ลักษณะงานด้วยกัน คือ
งานลงรักปิดทองทึบ
งานลงรักปิดทองร่องชาด
งานลงรักปิดทองร่องกระจก
งานลงรักปิดทองลายฉลุ

งานลงรักปิดทองทึบ

งานลงรักปิดทองทึบ หมายถึงการปิดทองคำเปลวลงบนงานศิลปวัตถุต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นด้วย ดินเผา ปูนปั้น ไม้แกะสลัก หรือโหละหล่อ เพื่อให้ผิวภายนอกของศิลปวัตถุนั้นๆ เป็นผิวทองคำ และเรียบเกลี้ยงทั่วไป ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปปิดทองเป็นพระปฏิมาประธาน เป็นต้น

งานลงรักปิดทองร่องชาด

งานลงรักปิดทองร่องชาด หมายถึงการปิดทองคำเปลวลงบนงานศิลปวัตถุประเภทต่างๆ เช่น ปูนปั้น ไม้แกะสลัก ซึ่งมักแสดงออกในลักษณะลวดลายตกแต่งครุภัณฑ์ ยานพาหนะ หรือองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบ ไทยประเพณี ซึ่งในส่วนที่เป็นลวดลายก็ดี รูปภาพแทรกระหว่างลวดลายก็ดีจะได้รับการปิดทองคำเปลว ซึ่งดำเนิน การด้วยวิธีการปิดทองทึบ แต่จะมีลักษณะต่างกันตรงที่มีการ "ร่องชาด" ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของงานนี้
คำว่า "ร่องชาด" นี้มาแต่คำว่า "ร่อง" คำหนึ่งกับ "ชาด" อีกคำหนึ่ง "ร่อง" หมายถึงรอยลึกต่ำลงไประหว่างผิว พื้นปรกติ ในกรณีนี้หมายถึง ร่องที่ได้รับการขุดควักลงไปให้ต่ำอยู่ระหว่างช่องไฟของลวดลาย หรือพื้นหลังที่ดู เหมือนต่ำลงไปในงานปั้นปูนเน้นลวดลายให้นูนสูงขึ้นจากพื้นหลังนั้น ส่วนคำว่า "ชาด" หมายถึงวัตถุสีแดงชนิดหนึ่ง ใช้ทำเป็นสีสำหรับเขียนหรือระบายคำว่า "ร่องชาด" ในลักษณะของงานปิดทองร่องชาด อาจมีความหมายเป็นทั้งคำ นามและคำกิริยา ดังนี้
งานลงรักปิดทองร่องชาดนี้ทำขึ้นด้วยความประสงค์ให้สีแดงที่ใช้ทาลง หรือถมลงในส่วนที่เป็นร่องระหว่าง ลวดลายหรือช่องไฟระหว่างสิ่งที่ทำขึ้นในลักษณะ งานปูนปั้นงานไม้หรือหินแกะสลัก ดูเด่นเห็นกระจะขึ้นจากพื้นที่ เป็นร่องลึกต่ำหรือพื้นที่รองรับอยู่เบื้องหลังนั้นนั่นเอง
อนึ่ง การใช้สีชาดหรือสีแดงชาดทาลงหรือถมลงในร่องนี้เป็นไปตามขนบนิยมและประเพณีนิยมว่า "สีแดง" เป็นสีที่มีความหมายถึง ความสว่าง ความสุกใส ควรใช้ควบคู่กับสีทอง ซึ่งหมายถึงความรุ่งเรืองจึงเรียกกันว่า "ลงรักปิดทองร่องชาด" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ร่องชาด"

งานรักปิดทองร่องกระจก


งานลงรักปิดทองร่องกระจกหมายถึงการลงรักลงบนงานศิลปวัตถุต่างๆ ประเภทที่ทำขึ้นด้วย ปูนปั้น ไม้แกะสลัก ดินเผา แล้วปิดทองคำเปลวพับ ลักษณะคล้ายกันกับงานลงรักปิดทองทึบ แต่จะมีลักษณะเฉพาะของงานนี้ อยู่ที่มีการ "ร่องกระจก" เพิ่มขึ้นมา
"ร่องกระจก" คือการใช้กระจกสีต่างๆ แผ่นบาง รูปสี่เหลี่ยม นำมาตัดย่อยเป็นชิ้นเล็กรูปร่างต่างๆ ตามประสงค์ ให้เหมาะแก่งานและพื้นที่นำมาติดลงในพื้นร่องระหว่างลวดลายหรือในช่องไฟของสิ่งที่ได้ปิดทองขึ้นในที่นั่น
ความประสงค์ "ร่องกระจก" ก็เป็นไปเช่นเดียวกับการปิดทองร่องชาด คืออาศัยกระจกที่เป็นวัตถุมีสีและความ มันวาวถมปิดลงในร่องเพื่อหนุนหรือขับลวดลายหรือสิ่งที่ปิดทองซึ่งนูนขึ้นจากพื้นหลังให้เป็นที่ดูเด่นชัด เห็นกระจะ ตานั่นเอง

งานลงรักปิดทองลายฉลุ
งานลงรักปิดทองลายฉลุ หมายถึงงานตกแต่งลักษณะหนึ่งทำขึ้นด้วยการลงรักแล้วปิดทองคำเปลวให้เป็นลวด ลายแบบต่างๆ โดยอาศัยแบบลายฉลุเป็นเครื่องกำหนดให้เกิดเป็นลวดลายเช่นนั้น
งานลงรักปิดทองลายฉลุนี้ พึงหาตัวอย่างดูได้ตามเพดาน ท้องขื่อ ฝ้าเฉลียง ไขรา ฝาผนังในพระอุโบสถ พระวิหาร หอพระธรรม พระมณฑป เป็นต้น ลักษณะทั่วไปมักเป็นลวดลายหย่อม เช่น ลายดาว ลายดอกจอก ลายดาวรังแตน ลายดอกไม้ร่วง หรือทำเป็นลวดลายติดต่อ เช่น ลายก้านแย่งดอกใน ลายกรวยเชิง ลายเกลียวก็มี ลักษณะของลวดลายเป็นสีทองบนพื้นสีแดงบ้าง สีคราม และสีเขียวบ้าง ลวดลายแบบนี้มีลักษณะเป็นตัวขาดจากกัน ไม่ต่อเนื่องกันดังเช่นลายเขียน ทั้งนี้เนื่องจากมี "ขื่อ" ทำขึ้นในแบบลายฉลุเป็นเครื่องกั้นลายแต่ละตัวให้ขาดกัน
งานลงรักปิดทองลายฉลุและวิธีการลงรักปิดทองลายฉลุนี้ เป็นมาด้วยการแก้ปัญหาทางการช่าง ในการทำ ลวดลายตกแต่งตามที่สูงๆ เป็นต้น ฝ้าเพดาน ท้องขื่อ หรือฝ้าปีกนก ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ดาดอยู่เหนือศีรษะ เป็นตำแหน่ง ที่ยากและลำบากแก่การแหงนหน้าขึ้นเขียนลวดลายที่ประณีตและละเอียด จึงได้ใช้วิธีทำแบบลวดลายขึ้นบนกระดาษ บ้าง หนังแพะบ้าง แล้วฉลุตัวลายให้ขาดเป็นช่องๆ ตามรูปแบบลายนั้น ขึ้นไว้บนพื้นกระดาษนั้น เมื่อจะทำลวดลายก็ เอาน้ำยาขึ้นไปทาพื้นตรงที่จะทำให้เป็นลวดลายแล้วเอาแบบลวดลายปะติดเข้าตรงที่ต้องการให้ติดแน่น จึงเอา ทองคำเปลวปิดลงตรงช่องที่เจาะทำเป็นตัวลายบนแบบนั้นให้ทั่ว พอทองจับติดพื้นดีแล้วจึงแกะแบบถอนออกจากพื้น ตามแบบลายฉลุที่ได้ทำขึ้นเป็นแบบนั้น แบบลายฉลุนี้อาจใช้ทำลวดลายต่อเนื่องกันไปได้ไม่จำกัด ลวดลายและวิธีทำ ให้เกิดเป็นลวดลาย ลักษระเช่นนี้จึงเรียกว่า งานลงรักปิดทองฉลุลาย

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย วาโยรัตนะ : 24-03-2009 เมื่อ 09:02
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 9 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ วาโยรัตนะ ในข้อความที่เขียนด้านบน
สุธรรม (29-04-2010)