ดูแบบคำตอบเดียว
  #17  
เก่า 28-10-2009, 20:25
ป้านุช's Avatar
ป้านุช ป้านุช is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: Bangkok Thailand
ข้อความ: 866
ได้ให้อนุโมทนา: 21,453
ได้รับอนุโมทนา 109,675 ครั้ง ใน 2,785 โพสต์
ป้านุช is on a distinguished road
Lightbulb

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

การระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านและวิตกจริต ๒

เรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน เจ้าเห็นทุกข์เห็นโทษตามที่ตถาคตและทุกองค์ตลอดจนท่านฤๅษีเฝ้าพร่ำสอน
แต่เจ้าจักให้บุคคลอื่นเห็นทุกข์ เห็นโทษของการบริโภคอาหารเหมือนกับเจ้าย่อมเป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น จงดูเจตนาที่เขาหวังดีกับเจ้าเป็นสำคัญ


บุคคลผู้ยังเกาะติดอยู่ในกายมาก ก็ย่อมคิดที่จักบำรุงกายนั้นเพื่อให้ทรงอยู่ตลอดเวลา
นี่เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่เขาห่วงกายเรา จึงเฝ้าบำรุงบำเรอ คิดว่ามันจักทรงตัว
นี่เป็นความดีของเขาที่มีเมตตาต่อร่างกายเจ้า
นั่นเป็นธรรมดาของเขาที่เจ้าควรจักยอมรับกฎธรรมดานั้น


มาศึกษาทางด้านจิตของเจ้าเอง
กลับมาคิดมากจนขาดเมตตาจิตของเจ้าเอง เอามาป็นอารมณ์ฟุ้งหาจุดลงไม่ได้
นี่เป็นโทษใหญ่ แม้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา แต่กายนี้มันก็ยังทรงอยู่ในปัจจุบัน
การต้องการบริโภคอาหารก็ยังมีอยู่เป็นปกติของผู้ยังมีกายอยู่ ก็เป็นกฎธรรมดาอีกนั่นแหละ


แม้เจ้าจักพยายามละกามคุณอยู่
แต่ควรกำหนดรู้ว่า การมีร่างกายก็ยังจักต้องเกี่ยวข้องอยู่กับกามคุณ ๕
การละต้องดูอารมณ์จิตเป็นสำคัญ
อย่างกรณีอาหารและเครื่องอุปโภคที่เขาจักนำมาให้ ก็จงดูอารมณ์ของใจเป็นสำคัญ
ถ้าหากยังฟุ้งอยู่ด้วยความยินดีหรือไม่ยินดี ก็นับว่าอารมณ์ยังเลวอยู่
ขาดเมตตาจิตต่อจิตของตนเอง จึงยังอารมณ์ให้หวั่นไหวอยู่
และอารมณ์นั้นก็สร้างทุกข์ให้เกิด อย่างนี้เสียผลของการปฏิบัติหรือไม่


การคิดให้สับสน
นำเรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามาหลายเรื่อง ทำให้อารมณ์จิตวุ่นวาย หาความสงบมิได้
จุดนี้ขอให้เจ้าพิจารณาให้ดี ๆ อย่าสักแต่ว่าเรื่องภายนอก
แม้กระทั่งธรรมภายในก็เช่นกัน จับโน่นวางนี่

กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง หากไม่ขึ้นต้นด้วยอานาปานัสสติให้ทรงตัวเสียก่อนแล้ว
จิตเจ้าก็ไปคว้าหมวดโน้นนิด หมวดนี้หน่อย ก็ทำให้อารมณ์จิตสับสนวุ่นวาย สุดท้ายก็เอาอะไรดีไม่ได้



ธรรมะไปสายเดียวกันก็จริงอยู่ เอโกธัมโมนั้นถูกต้อง
แต่จิตของเจ้าไม่ฉลาดพอ จึงไม่รู้เท่าทันอารมณ์ จับโน่นนิด คิดนี่หน่อย
เลยฟุ้งไปเสียก่อนที่จักได้ดี ปรับอารมณ์ตรงนี้เสียใหม่

พยายามบังคับจิตให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
ควบสมถะภาวนากองใดกองหนึ่ง ให้ถึงที่สุดเสียก่อนทุกครั้ง
จิตจักได้มีกำลังต่อสู้กับกิเลส


มิฉะนั้น เจ้าก็ต้องย่ำเท้าอยู่อย่างนี้ หาความก้าวหน้าในมรรคผลของการปฏิบัติไม่ได้


ตั้งใจให้จริง อย่าทิ้งความตั้งใจทำจริง เพื่อมรรคผลนิพพานเป็นสำคัญ
ต้องจดจำเอาไว้เสมอ จักได้พ้นทุกข์ของจิตเสียที


อย่าลืม สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา
ถ้าอยากให้อารมณ์จิตเป็นสุขและไม่ฟุ้งซ่าน จงอยู่ในธรรมปัจจุบัน
อย่ายุ่งกับธรรมในอดีตและธรรมในอนาคต อย่าจับปลาหลายตัว
ให้จับทีละตัวแบบกรรมฐาน ๔๐ ทำให้ดีที่สุดกองเดียวก่อน


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน
__________________
เสียงธรรมจากพระองค์ที่ ๑๐
ธรรมพระพุทธเจ้า คือธรรมชาติ ธรรมชาติที่ทุกคนก็มีอยู่ในตัวเอง
เพราะฉะนั้นเธอก็มีธรรมะ ฉันก็มีธรรมะ เธอกับฉันมีธรรมเสมอกันคือความตาย

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ป้านุช : 29-10-2009 เมื่อ 10:44
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ป้านุช ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา