ดูแบบคำตอบเดียว
  #339  
เก่า 09-05-2016, 12:47
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,833 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

ไตรลักษณ์อย่างหยาบ กลาง ละเอียด


“... เมื่อจิตยังไม่สงบ เราจะพิจารณาสิ่งใดก็ไม่ชัดเจน แม้จะพิจารณาทางปัญญาก็กลายเป็นสัญญาไปเสียโดยมาก นี้หมายถึงสัญญาที่จะก่อเหตุเป็นสมุทัย สะสมเป็นกิเลสขึ้นภายในใจ เพราะความรู้ความเห็นที่มาผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว จะพิจารณาสภาวธรรมก็เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เช่นเดียวกับบุคคลที่กำลังหยุดนิ่งอยู่ มองดูอะไรก็เห็นชัด ฉะนั้น สมาธิพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญมา คำว่า “สมาธิ” นี้ หมายถึงความสงบของใจ หรือความแน่นหนามั่นคงของใจ เมื่อใจได้รับความสงบแล้ว ความสุขจะปรากฏขึ้นมาในขณะนั้น ถ้ายังไม่สงบก็ยังไม่ปรากฏเป็นความสุขขึ้นมา เมื่อมีความสงบสุขแล้ว.. เราพอมีช่องทางจะพิจารณาทางปัญญา

คำว่า “ปัญญา” หมายถึงความสอดส่อง มองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ทะลุปรุโปร่งเป็นลำดับ หรือความแยบคาย ออกจากใจอันเดียว สัญญา คือความจำ ปัญญา คือความคลี่คลายในสิ่งที่ตนจดจำไว้นั้น เช่นเดียวกับเรามัดไม้หลายกิ่งหลายแขนงเข้าเป็นมัด ๆ สัญญาเช่นเดียวกับตอกหรือลวดที่เรามัดไม้เป็นกำไว้ ปัญญาเป็นผู้คลี่คลายไม้ที่เรามัดไว้นั้น ให้เห็นว่ามีกี่ชิ้นด้วยกัน มีไม้อะไร และชื่อว่าอะไรบ้าง เรื่องของปัญญาจึงเป็นธรรมชาติ.. คลี่คลายดูสภาวธรรมซึ่งเป็นของมีอยู่ในตัวของเรา

อนึ่ง คำว่า “สมาธิ” การทำใจให้มีความสงบเยือกเย็น ท่านผู้ฟังทั้งหลายคงจะเคยได้ทราบแล้วว่ามีหลายขั้น ขณิกสมาธิ จิตที่รวมลงเพียงขณะเดียวแล้วถอนขึ้นมาเสีย อุปจารสมาธิ คือสมาธิที่รวมสงบแล้วถอนออกมาเล็กน้อยแล้วออกรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาสัมผัสใจในขณะนั้น จะเป็นเรื่องสัตว์ บุคคล หรือภูติผีก็ตาม จัดเข้าในวงอุปจารสมาธินี้ ส่วนอัปปนาสมาธิ จิตที่หยั่งลงแล้วมีความสงบอย่างเต็มที่ และรวมอยู่ได้เป็นเวลานาน ๆ คำว่า “อัปปนาสมาธิ” นี้มีความหมายกว้างขวางมาก จิตรวมอยู่ได้นานด้วยมีความชำนิชำนาญในการเข้าออกของสมาธิด้วย ต้องการเวลาใดได้ตามความต้องการด้วย

แต่เราผู้บำเพ็ญในทางปัญญานั้น ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้วจึงจะต้องพิจารณาทางปัญญา เรื่องของสมาธิ คือความสงบ จะสงบมากน้อยพึงทราบว่า เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาคือปัญญาเป็นขั้น ๆ ไป เพราะปัญญามีหลายขั้น ขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด สมาธิในขั้นหยาบก็เป็นบาทฐานของวิปัสสนาขั้นหยาบได้ ขั้นกลาง ขั้นละเอียดก็เป็นบาทฐานของปัญญาขั้นกลาง ขั้นละเอียดได้ และในขณะเดียวกันพึงทราบว่า สมาธิกับปัญญานั้นเป็นธรรมคู่เคียงโดยจะแยกจากกันไม่ออก ควรใช้ปัญญาคู่เคียงกันไปกับสมาธิตามโอกาสอันควร คือถ้าเราจะดำเนินในทางสมาธิโดยถ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงเรื่องปัญญาเลยแล้ว จะเป็นเหตุให้ติดสมาธิคือความสงบ

เมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาในทางปัญญา เช่นพิจารณาธาตุขันธ์โดยทางไตรลักษณ์ วันนี้ก็พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันหน้าก็พิจารณาอนิจจา ทุกขัง อนัตตา ไตร่ตรองอยู่เช่นนี้ทุกวันทุกคืนไป ไม่ต้องสงสัยว่าจะไม่ชำนาญในทางปัญญา ต้องมีความคล่องแคล่วชำนาญเช่นเดียวกันกับทางสมาธิ ปัญญาในเบื้องต้นต้องอาศัยการบังคับให้พิจารณาอยู่บ้าง ไม่ใช่จิตเป็นสมาธิแล้วจะกลายเป็นปัญญาขึ้นมาทีเดียว ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วกลายเป็นปัญญาขึ้นมาเอง โดยผู้บำเพ็ญไม่ต้องสนใจมาพิจารณาทางด้านปัญญาเลยแล้ว จิตก็ไม่มีโอกาสจะติดสมาธิ ดังที่เคยปรากฏดาษดื่นในวงนักปฏิบัติ ความจริงเบื้องต้นต้องอาศัยมาพิจารณา ปัญญาจะมีความคล่องแคล่วและมีความสว่างไสว ทั้งรู้เท่าทันกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้องเป็นลำดับ จะเป็นไตรลักษณ์ที่หยาบก็จะเห็นในทางปัญญา

ไตรลักษณ์อย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียดนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณา เช่นเราพิจารณาในส่วนร่างกายจัดว่าเป็นไตรลักษณ์ส่วนหยาบ พิจารณาในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จัดเป็นไตรลักษณ์ส่วนกลาง พิจารณาเรื่องจิตที่เป็นรากเหง้าแห่งวัฏฏะจริง ๆ แล้ว นั่นคือไตรลักษณ์ส่วนละเอียด เมื่อจิตได้ก้าวเข้าสู่ไตรลักษณ์ส่วนหยาบ ไตรลักษณ์ส่วนกลาง ไตรลักษณ์ส่วนละเอียด จนผ่านพ้นไตรลักษณ์ทั้งสามนี้ไปแล้ว ธรรมชาติที่ปรากฏขึ้นในอันดับต่อไปอย่างไม่มีปัญหาใด ๆ นั้น จะเรียกว่า อัตตาก็ตาม อนัตตาก็ตาม ไม่เป็นไปตามความสมมุตินิยมใด ๆ ทั้งนั้น เพราะอัตตากับอนัตตาเป็นเรื่องของสมมมุติซึ่งโลกก็มีอยู่ด้วยกัน ธรรมชาติอันนั้นไม่ใช่สมมุติ โลกทั้งหลายจึงเอื้อมถึงได้ยาก เมื่อมีอัตตาและอนัตตาเป็นเครื่องเคลือบแฝงอยู่ในใจ ...”

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-05-2016 เมื่อ 14:25
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 19 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา