ดูแบบคำตอบเดียว
  #323  
เก่า 12-02-2016, 18:25
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,833 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default


ดวงประทีปใกล้สิ้นแสง หลวงปู่มั่นสั่งไว้

เหตุการณ์ในระยะที่หลวงปู่มั่นอาพาธหนักเข้า ๆ นี้ หลวงปู่หล้าก็ได้บันทึกไว้เช่นกันว่า

“...ครั้นล่วงเวลามา ๒๔๙๒ ปวารณาออกพรรษาแล้ว องค์หลวงปู่ก็ชรา อาพาธทวีเข้า พระอาจารย์มหาก็ได้จัดพระเณร เปลี่ยนวาระเข้าเฝ้ารอบ ๆ ใต้ถุน และรอบกุฏิขององค์หลวงปู่ แต่ครูบาวัน ครูบาทองคำ และข้าพเจ้าไม่ได้เปลี่ยน เพราะได้ถูกให้นอนเฝ้าที่ข้างบนระเบียงกุฏิองค์ท่าน และก็มีงานประจำตัวคนละกระทง ข้าพเจ้ามีงานประจำตัวคือรักษาไฟอั้งโล่ และคอยชำระอาจมของหลวงปู่


วันหนึ่งตอนกลางวันประมาณสี่โมงเช้ากว่า ๆ หลวงปู่องค์ท่านสั่งข้าพเจ้าว่า

ถ้าเราตายรีบพากันเผาโดยด่วนเน้อ’ ปรารภแบบเย็น ๆ เบา ๆ


‘ถ้าเผาแล้ว จงส่งข่าวไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์และญาติของเรา’

กล่าวสั้น ๆ เบา ๆ แล้วองค์ท่านหลวงปู่ก็
นอนนิ่งภาวนา ไม่รู้จะกราบเรียนอย่างไร เพราะอ้ายกิเลสน้ำตามันออกมาแล้ว ทั้งเอี้ยวคอไปแลดูครูบาวัน ครูบาวันก็แลดูประสบสายตากัน แต่ต่างคนก็ต่างนิ่งอยู่เงียบ ๆ

อีกสักครู่หลวงปู่องค์ท่านบอกเย็น ๆ ว่า ‘เอาไฟไปดับเสีย เพราะร้อนบ้างแล้ว พากันไปพัก จะอยู่องค์เดียวไปสักพักก่อน’ แล้วพากันเก็บสิ่งของเงียบ ๆ ไม่ให้กระเทือนก๊อก ๆ แก๊ก ๆ กราบเล้วก็พากันลงมาพร้อมกัน

ครูบาวันก็ขึ้นกุฏิของท่าน ส่วนข้าพเจ้ายังไม่ขึ้นกุฏิของตน ทอดสายตาแลดูกุฏิของพระอาจารย์มหา (บัว) เห็นองค์ท่านพักอยู่ธรรมดา ก็ขึ้นไปกราบองค์ท่าน พร้อมทั้งประนมมือขอโอกาสกราบเรียนว่า

‘วันนี้องค์หลวงปู่กล่าวว่า ถ้าเราตายรีบพากันเผาโดยด่วนเน้อ ปรารภแบบเย็น ๆ เบา ๆ ถ้าเผาแล้วจงส่งข่าวไปหาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์และญาติของเรา แล้วองค์หลวงปู่ก็
นอนนิ่งภาวนา พออีกสักครู่ก็บอกให้เอาไฟออก เพราะร้อนแล้ว แล้วก็บอกให้พวกกระผมลง ว่าจะพักอยู่องค์เดียวสักพักก่อน ดังนี้ พวกกระผมเก็บของเรียบร้อยแล้ว ก็ลงมาพร้อมกันกับครูบาวัน กระผมก็ไม่ได้พูดกับครูบาวันอันใดเลย ต่างคนก็ต่างนิ่ง แต่มองดูหน้ากันอยู่เงียบ ๆ ขอรับ’

พระอาจารย์มหาถามว่า ‘ในเวลาองค์หลวงปู่สั่งนั้น คุณอยู่ที่ไหน ?’

เรียนว่า ‘เฝ้าไฟอยู่ใกล้เตียงขององค์หลวงปู่ เพียงหัวเข่าหลวงปู่”

องค์ท่านถามต่อไปว่า ‘ท่านวันอยู่ไกลใกล้ขนาดไหน และทำอะไรอยู่ ?’


เรียนว่า ‘ครูบาวันอยู่ห่างหลวงปู่ประมาณวากว่า ๆ มีธุระเลือกยาอยู่เงียบ ๆ’

องค์ท่านถามต่อไปอีกว่า ‘ท่านวันได้ยินหรือไม่ ?’

เรียนตอบว่า ‘ได้ยิน เพราะกระผมได้เอี้ยวคอไปแลดูครูบาวัน ประสบตากันอยู่ ครูบาวันก็ไม่พูดอะไร กระผมก็ไม่พูดอะไร ต่างคนก็ต่างเงียบ แล้วการสั่งเสียขององค์หลวงปู่จะเป็นความจริงหรือประการใดขอรับ’

พระอาจารย์มหาตอบว่า ‘จริงทีเดียว’

กราบเรียนว่า ‘ถ้าเป็นความจริง ไฉนจึงสั่งกระผมเป็นคำฝากไปหาครูบาวันในตัว เพราะครูบาวันนั่งอยู่ใกล้องค์หลวงปู่มากกว่ากระผม และกระผมเล่าก็เป็นผู้น้อยพรรษา และไฉนจึงไม่สั่งพระอาจารย์มหาซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่องค์สำคัญขอรับ’

พระอาจารย์มหาตอบว่า ‘ไม่เป็นอย่างนั้นดอก เพราะองค์ท่านมองเห็นว่า พระองค์นี้เป็นพระอ่อนพรรษาก็จริง แต่แก่อายุ ทั้งยอมตัวเข้าใกล้เราด้วย ขณะนี้เราไม่ต้องการพูดมากหลายคำ ถ้าหากว่าเราพูดกับพระผู้ใหญ่ มันจะตอกเราหลายคำ เธอหากจะนำคำอันนี้ไปเล่าให้พระผู้ใหญ่ฟังเอง เพราะเธอเป็นผู้สนใจอยู่แล้ว อันนี้เป็นเพียงเริ่มธรรมาสน์เฉย ๆ ดอกหล้า พรุ่งนี้จะพูดดังกว่านี้ให้คณะสงฆ์ได้ยินหมดละ เผง ๆ ทีเดียวละ’

ครั้นเป็นวันใหม่ ฉันเสร็จแล้ว คณะสงฆ์ขึ้นไปมากจนหมดวัด (องค์ท่านหลวงปู่มั่น) ก็ปรารภขึ้นดัง พร้อมทั้งบรรยายกว้างขวางออกไปละเอียด อย่างที่พระอาจารย์มหาทายไว้ ไม่ผิดเลย องค์ท่านหลวงปู่บรรยายออกไปว่า

ถ้าเอาเราไว้นานก็จุกจิกมาก ลูก ๆ หลาน ๆ จะจุก ๆ จิก ๆ ขาดจากวิเวก จะมีแต่วิวุ่นและสัตว์ก็จะตายมาก และพระองค์เจ้าก็ ๗ วันเท่านั้น.. ถวายพระเพลิง ถึงกระนั้น มัลลกษัตริย์ เขาก็เอาไฟไปถวายพระเพลิงตั้งแต่วันที่ ๓ แล้ว แต่ไฟไม่ติดถึง ๓ ครั้ง เพราะเทวดาบันดาลไม่ให้ไฟติด เพราะคอยพระมหากัสสปะ กำลังเดินทางมาพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ นี้ เราเป็นขี้เล็บขี้เท้าของพระองค์เจ้า เก็บเราเอาไว้ก็คอยพระมหากัสสปะเหม็นเท่านั้น’ ดังนี้ สั่งซ้ำ ๆ ซาก ๆ ด้วย


ผู้เขียนมิได้มีความสงสัยในองค์หลวงปู่ ว่าจะมักใหญ่ใฝ่สูงในเรื่องฌาปนกิจอันใดเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะได้เห็นด้วยตาเต็มตา เห็นด้วยใจเต็มใจ และพยานอันสำคัญคือพระอาจารย์เนียม ๑๘ พรรษา พระอาจารย์สอก็ ๙ พรรษา ๒ ศพปีเดียวกัน สิ้นลมปราณวันไหนก็เผาวันนั้นอีกด้วย ที่องค์หลวงปู่อยากจะเผาลูกศิษย์แบบหนึ่ง แล้วอยากจะให้ทำให้ท่านแบบหนึ่งนั้น.. เป็นไม่มีเลย เป็นเรื่องของผู้อยู่ข้างหลังต่างหากที่เอาไว้ช้า เพราะมีมติจะสร้างโบสถ์ไว้ให้เป็นปูชนียสถานทางวัตถุ เพื่อให้ถึงใจแก่ประชาชนผู้หนักไปในทางวัตถุ พระปฏิบัติเลยกลายเป็นปัญหาโบสถ์มาจนทุกวันนี้ละเอ๋ย...

องค์หลวงปู่มั่นผู้ชราพาธเพิ่มหนักเข้า ออกพรรษาแล้ว ครูบาอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าจำพรรษาอยู่ต่างทิศ ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ ต่างตำบล ก็ทยอยกันเข้ามาเฝ้าองค์หลวงปู่ที่วัดป่าบ้านหนองฝือ ต่างก็ออกความเห็นมติตามเจตนาแต่ละองค์ ๒๔๙๒ เดือนพฤศจิกายนนั้นเอง เป็นข้างขึ้นของเดือนนั้น

มีพระอาจารย์เทสก์ (หลวงปู่เทสก์ในปัจจุบัน) สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่เขาน้อย ท่าแฉลบ จ. จันทบุรี มีหลวงปู่อ่อน สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านหนองโคก อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีหลวงปู่ฝั้น สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดป่าธาตุนาเวง ที่เรียกว่าวัดภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร มีพระอาจารย์กงมา หรือหลวงปู่กงมา สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดดอยธรรมเจดีย์ แต่กำลังเริ่มก่อสร้างอยู่ยังไม่ทันกว้างขวาง ไปบิณฑบาตบ้านนาสีนวล แต่องค์ท่านไป ๆ มา ๆ อยู่วัดป่าบ้านโคก เพราะวัดเดิมอยู่นั้นถูกขึ้น อ.เมือง จ.สกลนคร มีพระอาจารย์กู่หรือหลวงปู่กู่ก็ว่า จำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีพระอาจารย์มหาทองสุก วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร และสมัยนั้นวัดป่าบ้านหนองฝือ องค์หลวงปู่มั่นก็ขึ้นบัญชีพระประจำปีกับวัดสุทธาวาสอยู่ มีพระอาจารย์สีโห สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่นครราชสีมา เป็นวัดใดสงสัยจำไม่ชัด มีพระอาจารย์กว่า สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาบ้านนาหัวช้าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนครนั้นเอง ให้เข้าใจว่า พระอาจารย์กู่ก็ดี พระอาจารย์กว่าก็ดี หลวงปู่ฝั้นก็ดี เป็นเครือญาติใกล้ชิดกันในฝ่ายตระกูลวงศ์ แต่พระอาจารย์กู่มีพรรษาเหนือกว่าหลวงปู่ฝั้น ได้สิ้นลมปราณไปหลังหลวงปู่มั่นพรรษาหนึ่งเท่านั้น มีพระอาจารย์วิริยังค์ สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดป่าใน อ.ขลุง จ.จันทบุรี และก็ไป ๆ มา ๆ อยู่วัดป่ากงสีไร่ อันเป็นอำเภอขลุงนั้นเอง จึงเขียนไว้เป็นที่ระลึก...”

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 13-02-2016 เมื่อ 01:53
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 29 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา