ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 30-04-2019, 07:44
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,371
ได้ให้อนุโมทนา: 150,702
ได้รับอนุโมทนา 4,397,155 ครั้ง ใน 33,960 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒

ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราเอาไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ สองวันก่อนเรากล่าวถึงความสำคัญของอานาปานสติ ที่เป็นพื้นฐานใหญ่ในการเจริญกรรมฐานทั้งปวง กล่าวถึงในเรื่องของการที่เราต้องนำเอากำลังสมาธิ มาใช้ในการพิจารณาตัดละร่างกายนี้ เพื่อที่จะไม่ให้กิเลสเอาสมาธิมาใช้ในการฟุ้งซ่าน

สำหรับวันนี้ก็จะกล่าวถึงในส่วนที่ท่านทั้งหลายเมื่อถึงเวลาปฏิบัติแล้ว มีความอยากได้ใคร่ดีในการปฏิบัติอย่างหนึ่ง ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้แล้วก็ปฏิบัติไปตามเวรตามกรรมอย่างหนึ่ง

เรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าศึกษามามากก็เป็นอุปสรรค ถ้าเรารู้มากก็จะไปคอยดูว่า ขั้นตอนจะเป็นไปตามที่รู้มาหรือไม่ ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ศึกษาเอาไว้เลย เราก็จะไม่มีแนวทางในการปฏิบัติ การศึกษานั้นจะต้องพอเหมาะ พอดี พอควร

วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ศึกษาในส่วนที่เรากำลังปฏิบัติ อย่างเช่นว่าลมหายใจเข้าออก และขั้นตอนของปฐมฌาน เป็นต้น เมื่อเราทำลมหายใจเข้าออกจนทรงตัว ขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามที่ตำราหรือครูบาอาจารย์ว่าไว้ ว่าอาการอย่างนี้เป็นปฐมฌาน เราค่อยไปศึกษาวิธีการพิจารณาวิปัสสนาญาณด้วยกำลังของปฐมฌาน แล้วก็ศึกษาอารมณ์ของฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ไม่อย่างนั้นแล้วเวลาเราปฏิบัติไปแล้วอยากได้ใคร่ดีจนเกินไป ก็จะทำให้กำลังใจของเราฟุ้งซ่านโดยใช่เหตุ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็จะไม่มี

ส่วนอีกข้อหนึ่งก็คือ การปฏิบัติธรรมของเราต้องหวังผล อย่าทำเหมือนกับแก้บน อย่าทำเพื่อให้เราได้ชื่อว่าปฏิบัติธรรมไปวัน ๆ เมื่อถึงเวลาเราก็ทำงานของเรา พอนอกเวลาการทำงาน นั่นก็คือเวลาที่เราจะมาเข้มงวดกับการปฏิบัติธรรมของตนเอง ก็แปลว่า เวลาทำงานให้ใจของเราอยู่กับงาน เวลาว่างให้ใจของเราอยู่กับกรรมฐาน ถ้าหากว่ากำลังใจของเราทุ่มเทอยู่กับงาน นั่นคือการทรงสมาธิอย่างหนึ่ง และเป็นสมาธิใช้งานด้วย

นักบินบางท่าน ด้วยความที่กำลังใจจดจ่ออยู่กับขั้นตอนของการบิน โดยเฉพาะนักบินที่ขับเครื่องบินรบเร็วกว่าเสียง พลาดนิดเดียวมีสิทธิ์ตาย กำลังใจที่จดจ่ออยู่ทำให้นักบินหลายท่านทรงสมาธิได้โดยไม่รู้ตัว บางคนจึงชอบการบินมากเป็นพิเศษ เพราะว่าขึ้นบินเมื่อไรจะรู้สึกว่าตัวเองทำไมมีความสุขอย่างนี้ ทำไม รัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราไม่ได้เลย ความฟุ้งซ่านต่าง ๆ กินใจเราไม่ได้เลย ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น..เวลาปฏิบัติงาน กำลังใจของเราทั้งหมดให้ทุ่มเทอยู่กับงาน เมื่อเลิกงานแล้ว กำลังใจของเราก็มาทุ่มเทอยู่กับกรรมฐาน จึงนับเป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-04-2019 เมื่อ 19:57
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา