ชื่อกระทู้: คิริมานนทสูตร
ดูแบบคำตอบเดียว
  #19  
เก่า 15-02-2010, 11:18
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,871 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

๑๐.๙ ดับกิเลสตัณหาได้มากเท่าไร ก็เป็นบุญเป็นกุศลมากเท่านั้น ผมขอสรุปสั้น ๆ เป็นข้อ ๆ เพื่อความเข้าใจให้ง่ายขึ้นดังนี้

ก) บาปอกุศลทุกชนิดคือตัวกิเลส หรือสิ่งใดที่มากระทบจิตแล้วทำให้จิตเศร้าหมอง ล้วนเป็นกิเลสทั้งสิ้น ส่วนตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมต่าง ๆ ล้วนเป็นกิเลสทั้งสิ้น แต่มีรายละเอียดต่างกัน จึงมีสมมุติชื่อเรียกให้แตกต่างออกไป

ข) สุข ทุกข์,บุญ บาป,ดี ชั่ว ล้วนอยู่ที่ใจเรา หรือเกิดจากใจเราทั้งสิ้น

ค) ผู้ใดที่ไปหาบุญบาปนอกกายนอกใจเรา ล้วนเป็นคนหลง เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น

ง) การระงับดับกิเลส จึงต้องแก้ที่กายเราและจิตเราเท่านั้น จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ อย่าไปยุ่งกับกายและใจของผู้อื่น

จ) ในเมื่อสุข ทุกข์,บุญ บาป อยู่ที่ใจเรา เราเองเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีใครจะช่วยเราให้พ้นทุกข์ ได้รับสุขได้ นอกจากตัวเราเอง หรือที่พึ่งอันสุดท้ายจริง ๆ ก็คือตัวเราเอง หรือจงเอาตนเองเป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัย อย่าเอาผู้อื่นเป็นที่พึ่งเป็นที่อาศัย


๑๐.๑๐ บุญกุศล-สวรรค์-นิพพาน เกิดจากตัวเราเอง ไม่มีผู้ใดนำมาให้ “ดูกร..อานนท์ บุญกับสุข หากเป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบุญก็ชื่อว่ามีความสุข บาปกับทุกข์ก็เป็นอันเดียวกัน เมื่อมีบาปก็ชื่อว่ามีทุกข์ ถ้าไม่รู้บาปก็ละบาปไม่ได้ ถ้าไม่รู้จักบุญก็หาบุญไม่ได้”

ผมขอสรุปพระธรรมจุดนี้โดยย่อว่า พระองค์ทรงหมายถึง บุคคลส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจว่า บุญ บาป,สุข ทุกข์ มิได้อยู่นอกตัวเรา ความจริงแล้ว บุญ บาป,สุข ทุกข์ ล้วนอยู่ที่กายและใจเราทั้งสิ้น ตามธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ในข้อ ๑๐.๙ มีรายละเอียดแยกไว้จากข้อ ก.และข้อ จ.นั่นเอง


๑๐.๑๑ จะไปสวรรค์ ไปพระนิพพานต้องไปด้วยตนเอง จะพาเอาคนอื่นไปด้วยไม่ได้ ผมขอสรุปสั้น ๆ เป็นข้อ ๆ ดังนี้

ก) ผู้ใดอยากพ้นนรก ก็จงทำตนให้พ้นนรกตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่นี้ เพราะธรรมของตถาคตจริงในปัจจุบันเท่านั้น อดีตที่ผ่านมาแล้วก็ไม่ใช่, อนาคตซึ่งยังไม่ถึงก็ไม่ใช่ ทุกสิ่งทุกอย่างจริงในปัจจุบันเท่านั้น ทรงหมายถึงการปฏิบัติธรรม จะต้องทำจิตให้อยู่ในปัจจุบันธรรมเท่านั้น อย่าไปติดอดีตที่ผ่านมาแล้ว อย่าไปหวังอนาคตซึ่งยังไม่ถึง หากไม่เข้าใจจุดนี้แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะสู้กับกิเลสได้

ข) “ดูกร..อานนท์ สวรรค์ในโลกมนุษย์ก็คือ การมีลาภ-มียศ-มีตำแหน่งสูง ๆ มีคนชมหรือสรรเสริญ ก็คิดว่ามีความสุข (เหมือนขึ้นสวรรค์) แต่ความจริงแล้วแม้สวรรค์จริง ๆ ในทุกชั้นฟ้า ย่อมเจือปนอยู่ด้วยความทุกข์ทั้งสิ้น สุขในสวรรค์นั้นเป็นสุขจริง แต่ยังเป็นสุขที่เจืออยู่ด้วยทุกข์ แต่ก็ยังดีกว่าตกนรกโดยแท้ ไม่เหมือนสุขในพระนิพพาน ซึ่งเป็นเอกันตบรมสุข มีแต่สุขโดยส่วนเดียว ไม่มีทุกข์เจือปนด้วยเลย” (ธรรมะจุดนี้ทรงหมายถึง มนุษยโลก และสวรรคโลกยังตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์คือ ความไม่เที่ยง เพราะความไม่เที่ยงนี้แหละเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ เช่น ความหิวเป็นทุกข์ พอกินอิ่มแล้วทุกข์คลายตัวก็คิดว่าเป็นสุข แต่ครู่เดียวก็หิวอีก,อาบน้ำเพื่อชำระความสกปรกของกายก็บรรเทาได้ชั่วคราว ประเดี๋ยวก็ต้องอาบอีก,ซักเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว (สกปรก) ต่อมาก็ต้องซักอีก ทำงานแล้วก็ต้องทำอีก เพราะงานในโลกไม่มีใครทำเสร็จ สรุปว่าทุกสิ่งในโลกล้วนเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้น

พระองค์ทรงตรัสเป็นหลักธรรมว่า “ภาระที่หนักยิ่งในโลก ก็คือภาระที่ต้องดูแลขันธ์ ๕ หรือร่างกาย” เพราะต้องดูแล เอาใจมันตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ไม่มียกเว้นแม้แต่วันเดียว จึงมีสภาพเหมือนกับต้องเลี้ยงลูกอ่อนตลอดชีวิต หรือมีสภาพเหมือนต้องติดคุกตลอดชีวิต (คุกที่แสนสกปรก ต้องล้างขี้-เยี่ยวให้มัน ตั้งแต่หัวลงมาถึงเท้า ทุกวันตลอดชีวิต ผู้ใดพิจารณาสภาวธรรมจุดนี้จนเข้าใจได้ดีแล้ว จะเห็นทุกข์-เห็นโทษ-เห็นภัยจากการเกิดมามีร่างกายได้ตามความเป็นจริง ผลทำให้มีอารมณ์เบื่อกาย-เบื่อเกิดไม่อยากเกิดมาพบกับความทุกข์เช่นนี้อีก เรียกว่าเข็ดแล้วในการเกิด ขอเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ขันธ์ ๕ หรือร่างกายตายเมื่อไร เราหรือจิตก็ขอพุ่งตรงไปพระนิพพานเมื่อนั้น เรียกว่ามีดวงตาเห็นธรรม ธรรมที่นำเราไปสู่ความพ้นทุกข์ตลอดกาล หรือธัมมวิโมกข์นั้นเอง)


๑๐.๑๒ อยากรู้ว่าได้รับความสุขหรือทุกข์ ให้สังเกตดูอารมณ์จิตเรา ขณะยังมีชีวิตอยู่ “ดูกร..อานนท์ ในอดีตชาติตถาคตหลงอยู่ในวัฏฏสงสารนี้มาช้านาน มุ่งทำบุญกุศลเพื่อให้พ้นทุกข์ ครั้นกายตายไป ก็ตายแต่ขันธ์ ๕ หรือร่างกาย ส่วนใจนั้นไม่ตายเป็นอมตะ ต้องไปเกิดเสวยกรรมตามที่ใจทำไว้ เมื่อมีเกิดก็ต้องมีตาย เกิด-ตายอยู่เช่นนี้นับชาติไม่ถ้วน มาชาติปัจจุบันนี้ (ปัจฉิมชาติ) จึงรู้ว่าสวรรค์-นิพพานอยู่ที่ใจ จึงรีบเร่งปฏิบัติที่ใจ จนได้เป็นพระบรมครู แล้วจึงสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ตามตถาคตอยู่ทุกวันนี้”


๑๐.๑๓ สวรรค์และนิพพานต้องทำเอาเอง ด้วยการดับกิเลสตัณหา พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้บอก ผู้ชี้แนะแนวทางปฏิบัติให้เท่านั้น ธรรมข้อนี้ชัดเจนอยู่แล้ว ผมไม่ขออธิบายอีก


๑๐.๑๔ การตกนรกและขึ้นสวรรค์ เอาร่างกายไปไม่ได้ ต้องเอาจิตไป ธรรมข้อนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุ ๔ เป็นสมบัติของโลก จึงไม่มีใครสามารถเอาไปได้ ส่วนจิตเป็นของเรา จิตไม่ตายเป็นอมตะ จิตมาอาศัยร่างกายอยู่ชั่วคราว เพื่อบำเพ็ญบารมีหรือกำลังใจให้เต็ม เต็มแค่สวรรค์ก็ไปสวรรค์ เต็มแค่พรหมก็ไปพรหม เต็มบริบูรณ์ (ปรมัตถะ) ก็ไปพระนิพพาน

หากไม่ปฏิบัติตามหลักธรรม ที่พระพุทธองค์ประกาศพระพุทธศาสนาของพระองค์ไว้ในวันมาฆบูชา มีความสำคัญย่อ ๆ ๓ ข้อว่า จงละกรรมชั่วทั้งหมด,จงทำแต่ความดี,จงทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ตรัสอย่างนี้เหมือนกันหมด วิธีปฏิบัติให้พ้นทุกข์ก็คือ ศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือทาน-ศีล-ภาวนา ใครไม่ปฏิบัติตามนี้ ก็ไปตามกรรมคือนรก

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-02-2010 เมื่อ 12:23
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 17 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา