ดูแบบคำตอบเดียว
  #13  
เก่า 15-04-2009, 17:17
ก้านบัว's Avatar
ก้านบัว ก้านบัว is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Dec 2008
ข้อความ: 47
ได้ให้อนุโมทนา: 21,271
ได้รับอนุโมทนา 49,331 ครั้ง ใน 1,007 โพสต์
ก้านบัว is on a distinguished road
Default

๑๓. หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม

ขออนุญาตท่านผู้อ่าน เขียนถึงประวัติของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม สักเล็กน้อยเพื่อความเข้าใจของผู้ที่ใหม่ต่อพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

หลวงปู่สิงห์ นับเป็นพระอาจารย์องค์แรกที่สอนพื้นฐานการภาวนาให้กับหลวงปู่แหวน อันเป็นเหตุให้หลวงปู่มอบกายถวายชีวิตให้กับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนถึงที่สุดได้

หลวงปู่สิงห์ ท่านเป็นชาวอุบลฯ บวชที่วัดสุทัศนารามในเมืองอุบลฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ โดย มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระศาสนดิลกเป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงปู่สิงห์เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมมาก่อน ได้เข้าศึกษาด้านวิปัสสนากรรมฐานกับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ จึงเลิกเป็นครูสอน แล้วออกปฏิบัติธรรมแสวงหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรติดตามหลวงปู่มั่นและหลวงปู่เสาร์ กนตฺสีโล

สหธรรมมิกที่เป็นสหายคู่ใจของหลวงปู่สิงห์ คือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นศิษย์ที่หลวงปู่มั่นไว้วางใจมาก เมื่อหลวงปู่มั่นปลีกตัวออกแสวงวิเวกที่เชียงใหม่นานถึง ๑๒ ปี ได้มอบหมายการปกครองคณะสงฆ์สายวิปัสสนากรรมฐานให้กับหลวงปู่สิงห์ และท่านได้ทำการเผยแผ่วงศ์ธรรมยุตออกไปอย่างกว้างขวางทั้งภาคอิสานและในกรุงเทพฯ

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ชื่อว่าเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรมสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

หลวงปู่สิงห์ผู้เป็นศิษย์เอกจึงเป็นองค์แรกแทนหลวงปู่มั่นนำขบวนพระเณรลูกศิษย์สายหลวงปู่มั่นในสมัยนั้นออกเผยแพร่พระธรรม เมื่อคณะของหลวงปู่สิงห์ไปเผยแพร่ถึงที่ใดก็จะเกิดวัดป่าขึ้นที่นั่นนับจำนวนพันวัดทีเดียว

หลวงปู่สิงห์ เมื่อรับหน้าที่หัวหน้ากองทัพธรรมแทนหลวงปู่มั่นจึงจำต้องสำแดงบุญฤทธิ์ให้ประชาชนได้ชื่นชมและเชื่อมั่นในธรรม ถือเป็นกุศโลบายในการโน้มน้าวชาวบ้านให้บังเกิดศรัทธาความเลื่อมใส

" ดังนั้น นามของพระอาจารย์สิงห์จึงเป็นที่เลื่องลือระบือยิ่งใหญ่ในยุคนั้นหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ถ้าพูดกันตรง ๆ ก็ต้องบอกว่า ในสมัยนั้นคนรู้จักพระอาจารย์สิงห์มากกว่าที่จะรู้จักพระอาจารย์ใหญ่มั่น "

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้มาพำนักประจำที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จนกระทั่งมรณภาพ เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔ สิริรวมอายุได้ ๗๒ ปี ๗ เดือน ๑๒ วัน

สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายของท่านเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระญาณวิศิษฐ์สมิทธิวีราจารย์

พระธาตุของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ประดิษฐานอยู่บนบุษบกเดียวกับพระธาตุของอาจารย์ของท่านคือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าสาลวัน ในเมืองนครราชสีมา
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 18 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ก้านบัว ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา