ดูแบบคำตอบเดียว
  #32  
เก่า 11-05-2012, 11:37
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,548 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default


(โยมบิดามารดาขององค์หลวงตา ถ่ายเมื่อปี ๒๔๘๕ หลักจากนั้นอีก ๒ ปี โยมบิดาก็จากไป)


๒. น้ำตาพ่อแม่พลิกสายทางชีวิต

องค์หลวงตาสมัยเป็นฆราวาสในวัยหนุ่ม ตั้งใจจะดำเนินชีวิตทางโลกเช่นคนทั่วไป มิได้คาดฝันเลยว่าจะได้มาใช้ชีวิตแบบบรรพชิต แต่ก็มีสิ่งที่ทำให้ชีวิตเกิดพลิกผันขึ้น
............................

ใจแป้วเมื่อยิงหมี

โดยปกติแล้ว การตีผึ้งจะทำกันในตอนกลางเดือนมืด แต่ตอนท่านเป็นหนุ่มเป็นคนไม่กลัวอะไรง่าย ๆ จึงอยากจะทดลองตีผึ้งในตอนกลางวันดูบ้าง

ครั้งนั้นผลปรากฏว่า ผึ้งจำนวนมากต่างก็บินตามไล่ต่อยตลอดทาง ถึงขนาดที่ว่าต้องถอดเสื้อถอดผ้าออกหมด และรีบกระโจนลงไปอยู่ในน้ำ แม้ขนาดนั้นฝูงผึ้งก็ยังวนเวียนอยู่เหนือน้ำ แต่ที่สุดก็รอดพ้นไปได้ ครั้นเมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว มาดูตามเนื้อตัวปรากฏว่า มีแต่เหล็กในผึ้งฝังอยู่เต็มไปหมด

มีอยู่คราวหนึ่ง ท่านตามผู้ใหญ่ไปในป่า บังเอิญเหลือบไปพบหมีตัวหนึ่งเข้า ก็เป็นระยะที่ประชิดตัวมากแล้ว เพราะอยู่ใกล้มาก ครั้งนั้น ท่านช่วยพ่อแบกปืนอยู่จึงจำเป็นต้องยิงทันที ทราบว่าหมีตัวนั้นได้รับบาดเจ็บไม่น้อย ท่านบอกว่า วันนั้นทั้งวันรู้สึกไม่สบายใจเลย เมื่อกลับถึงบ้าน จึงถามพ่อว่า
“ยิงหมีนี่บาปไหม ?”

คงเป็นเพราะท่านได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็กว่า การฆ่าและการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาป หากเป็นวันพระด้วยแล้วยิ่งบาปมาก ทำให้ท่านแสดงความเสียใจปรากฏออกมา จนพ่อสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ยิ่งลูกตั้งคำถามกับพ่อดังกล่าวด้วยแล้ว ความที่พ่อเกรงว่าลูกจะสลดหดหู่เศร้าสร้อยเกินไป จึงได้กล่าวปลอบขวัญพอเป็นกำลังใจแก่ลูกแทนการให้คำตอบที่แท้จริง

ภายหลังเมื่อบวชแล้ว ท่านยังรู้สึกแป้ว ๆ ในใจอยู่ตลอดมา ดังนั้น เวลาภาวนาไหว้พระสวดมนต์คราวใด ท่านจะต้องแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลให้หมีตัวนั้นทุกครั้งทุกคราไป ท่านเคยกล่าวกับพระด้วยว่า แม้จนทุกวันนี้ท่านก็ยังแผ่เมตตาให้มันอยู่ตลอดมิเคยขาดเลย

คำกล่าวของท่านตอนหนึ่ง เล่าถึงความคิดในสมัยเด็ก ๆ เกี่ยวกับเรื่องความตาย จากนั้นก็กล่าวมาถึงเรื่องการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดังนี้
“...พูดถึงเรื่องเป็นเรื่องตายนี้กลัวมาก ตอนเป็นเด็กเรากลัวมาก พอพูดถึงเรื่องตายนี้ ไม่อยากให้ระลึกขึ้นเลย มันเหี่ยวมันห่อในใจให้ระลึกเรื่องอื่นมากลบมันเอาไว้ เราไม่ลืมนะ นี่ข้อหนึ่ง

ข้อที่สอง มีเพื่อนฝูงเขาพูด เราก็พากันไปหากินตามเรื่องตามราวนั่นละ เขามาพูดว่า
‘วันพระนี้ทำบาปเป็นบาปมากนะ วันพระนี่ไม่ฆ่าอะไร ทำบาปอะไร เป็นบาปมากนะ’

มันก็ฝังใจ เลยฝังมาตลอด วันพระนี้ไม่กล้าฆ่าสัตว์..”

คำกล่าวข้างต้นทำให้ทราบได้ว่า คนในสมัยนั้น ท่านเน้นเตือนกันเสมอในเรื่องบุญเรื่องบาป ไม่มองข้ามหรือเพิกเฉยไป จะเห็นได้ชัดเจนอีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับพ่อและแม่ของท่านเองคือ ทุกครั้งที่พ่อเข้าป่าเข้าดงได้เนื้อมา แม่จะต้องเอาเนื้อนั้นมาทำแห้งบ้าง ทำแหนมหรือทำส้มบ้าง เพื่อไม่ให้บูดให้เสียทิ้ง จะได้เอาไปทำบุญกับพระที่วัด แม่ทำเช่นนี้เสมอมา ทุกครั้งจะต้องอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับสัตว์ที่เอาเนื้อมาทำอาหารด้วยทุก ๆ ตัวไปไม่ให้ขาด ความใกล้ชิดติดพันของพ่อและแม่ต่อพระศาสนาเช่นนี้เอง มีส่วนปลูกฝังความคิดที่ถูกต้อง กอปรด้วยเมตตาธรรมแก่ท่านอยู่ไม่น้อย ให้มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป เป็นพื้นฐานประทับไว้ภายในจิตใจตลอดมากระทั่งก้าวสู่เพศบรรพชิต

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-05-2012 เมื่อ 12:25
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา