ดูแบบคำตอบเดียว
  #6  
เก่า 09-07-2009, 14:15
ป้านุช's Avatar
ป้านุช ป้านุช is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: Bangkok Thailand
ข้อความ: 866
ได้ให้อนุโมทนา: 21,453
ได้รับอนุโมทนา 109,675 ครั้ง ใน 2,785 โพสต์
ป้านุช is on a distinguished road
Default

วิธีกรานกฐินของพระภิกษุสงฆ์

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายกรานกฐินแล้ว ก็ได้ตรัสวิธีกรานกฐินด้วยว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงกรานกฐินอย่างนี้ คือ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา


เจ้าอาวาสเท่านั้นที่เป็นผู้กรานกฐินหรือ ?

ตามความนิยม โดยมากจะเลือกเจ้าอาวาสเป็นผู้กรานกฐิน เพราะเป็นพระมีพรรษามาก และเป็นผู้ปกครองภิกษุสามเณร
ในคัมภีร์ปริวารแสดงองค์ของภิกษุผู้กรานกฐิน๓ มีข้อความว่า

ภิกษุผู้กรานกฐินต้องประกอบด้วยองค์ ๘ จึงควรกรานกฐิน คือ

๑.รู้บุพพกรณ์

๒.รู้การถอนผ้า

๓.รู้การอธิษฐานผ้า

๔.รู้การกราน

๕.รู้มาติกา

๖.รู้ปลิโพธ

๗.รู้การเดาะกฐิน

๘.รู้อานิสงส์


องค์ ๘ ของภิกษุผู้กรานกฐิน

๑.บุพพกรณ์

ภิกษุรู้บุพพกรณ์ คือรู้การทำจีวรให้สำเร็จภายในวันนั้น จะเป็นผืนใดผืนหนึ่งในสามผืนก็ได้ ในคัมภีร์ปริวาร แสดงว่า บุพพกรณ์ สงเคราะห์ด้วยธรรม ๗ อย่างคือ
ซักผ้า ๑ กะผ้า ๑ เนาผ้า ๑ เย็บผ้า ๑ ย้อมผ้า ๑ ทำกัปปะ ๑ พินทุ ๑


๒.การถอนผ้า

ภิกษุรู้การถอนผ้า คือถ้าถอนผ้าสังฆาฏิ กล่าวว่า "อิมํ สงฺฆาฏึ ปจฺจุทฺธรามิ"๓ แปลว่า "เรายกเลิกผ้าสังฆาสังฏิผืนนี้"

ถ้าถอนผ้าอุตราสงค์ (จีวร) กล่าวว่า "อิมํ อุตฺตราสงฺคํ ปจฺจุทฺธรามิ" แปลว่า "เรายกเลิกผ้าอุตราสงค์ผืนนี้"

ถ้าถอนผ้าอันตรวาสก (สบง) กล่าวว่า "อิมํ อนฺตราวาสกํ ปจฺจุทฺธรามิ" แปลว่า "เรายกเลิกผ้าอันตรวาสกผืนนี้"

การกล่าวคำถอนผ้าดังกล่าว เป็นการถอนผ้าที่อยู่ในหัตถบาส คืออยู่ภายในที่ใกล้สองศอกคืบหรือศอก ๑ ในระหว่าง


๓. การอธิษฐานผ้า

ภิกษุรู้การอธิษฐานผ้า คือ เมื่อถอนผ้าสังฆาฎิเก่าแล้ว ก็อธิษฐานผ้าสังฆาฎิผืนใหม่ กล่าวว่า "อิมํ สงฺฆาฏึ อธิฏฺฐามิ" แปลว่า "เราตั้งผ้าผืนนี้เป็นสังฆาฏิ"

เมื่อถอนผ้าอุตราสงค์ผืนเก่าแล้ว ก็อธิษฐานผ้าอุตราสงค์ผืนใหม่ กล่าวว่า "อิมํ อุตฺตราสงฺคํ อธิฏฺฐามิ" แปลว่า "เราตั้งผ้าผืนนี้เป็นอุตราสงค์"

เมื่อถอนผ้าอันตรวาสกผืนเก่าแล้วก็อธิษฐานผ้าอันตรวาสกผืนใหม่ กล่าวว่า "อิมํ อนฺตรวาสกํ อธิฏฺฐามิ" แปลว่า "เราตั้งผ้าผืนนี้เป็นอันตรวาสก"

การกล่าวอธิษฐานผ้าดังกล่าวเป็นการอธิษฐานผ้าที่อยู่ภายในหัตถบาส ถ้าผ้าอยู่ภายนอกหัตถบาส ก็เปลี่ยนคำว่า "อิมํ" เป็น "เอตํ"


๔. การกราน
ภิกษุรู้การกราน คือ การเปล่งวาจา อธิบายการกรานกฐิน ในคัมภีร์ปริวารแสดงว่า คำว่า พึงรู้จักการกรานกฐินนั้นมีอธิบายว่า

ถ้าผ้ากฐินบังเกิดแก่สงฆ์ สงฆ์พึงปฏิบัติอย่างไร
ภิกษุผู้กรานพึงปฏิบัติอย่างไร ภิกษุผู้อนุโมทนาพึงปฏิบัติอย่างไร


สงฆ์พึงให้ผ้ากฐินแก่ภิกษุผู้กรานกฐินด้วยญัตติทุติยกรรม

ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงซักขยำให้สะอาด แล้ว กะ ตัด เย็บ ย้อม ทำพินทุ กัปปะ แล้วกรานกฐินในวันนั้นเทียว
ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยสังฆาฏิ พึงถอนผ้าสังฆาฏิผืนเก่าเสีย พึงอธิษฐานผ้าสังฆาฏิผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า
"อิมาย สงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ"
ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสังฆาฏิผืนนี้

ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าอุตราสงค์พึงถอนผ้าอุตราสงค์ผืนเก่าเสีย พึงอธิษฐานผ้าอุตราสงค์ผืนใหม่ เปล่งวาจาว่า
"อิมินา อุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ"
ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าอุตราสงค์ผืนนี้

ถ้าประสงค์จะกรานกฐินด้วยผ้าอันตรวาสก พึงถอนผ้าอันตรวาสกผืนเก่าเสีย พึงอธิษฐานผ้าอันตรวาสกผืนใหม่เปล่งวาจาว่า
"อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ"
ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าอันตรวาสกผืนนี้

อันภิกษุผู้กรานกฐินนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลีกล่าวอย่างนี้ว่า
"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทาถ"
ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านทั้งหลายอนุโมทนาเถิด

ภิกษุผู้อนุโมทนาเหล่านั้น พึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลีกล่าวอย่างนี้ว่า
"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทาม"
ผู้มีอายุกฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เราทั้งหลายอนุโมทนา

ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น เข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลีกล่าวอย่างนี้ว่า
"อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทถ"
ท่านเจ้าข้า กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านทั้งหลายอนุโมทนาเถิด

ภิกษุผู้อนุโมทนาเหล่านั้น พึงห่มผ้าอตุราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลีกล่าวอย่างนี้ว่า
"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทาม"
ผู้มีอายุกฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม เราทั้งหลายอนุโมทนา

ภิกษุผู้กรานกฐินนั้น เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลีกล่าวอย่างนี้ว่า
"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทาหิ"
ผู้มีอายุ กฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ขอท่านอนุโมทนาเถิด

ภิกษุผู้อนุโมทนานั้น พึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กล่าวอย่างนี้ว่า
"อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ"
ผู้มีอายุกฐินของสงฆ์กรานแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าอนุโมทนา

จากข้อความดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าภิกษุผู้กรานกฐิน เมื่อกล่าวกับสงฆ์หรือภิกษุหลายรูป ผู้อนุโมทนาใช้คำว่า "ภนฺเต" นั้น
คงจะมีภิกษุผู้มีอายุพรรษามากกว่าภิกษุผู้กรานกฐินอย่างน้อยรูปหนึ่ง แต่เมื่อกล่าวกับภิกษุผู้อนุโมทนารูปเดียวนั้นใช้คำว่า "อาวุโส"
และภิกษุรูปเดียวซึ่งอนุโมทนาก็ใช้คำว่า "อาวุโส" เช่นเดียวกัน คงจะมีอายุพรรษาเท่ากันกระมัง
ขอให้ท่านผู้รู้โปรดวินิจฉัยใช้ให้เหมาะสมเถิด ในคัมภีร์บริวาร ๗ ได้อธิบายบุคคลผู้กรานกฐินขึ้นและบุคคลผู้กรานกฐินไม่ขึ้น และผ้านั้นวิบัติอย่างไร ข้อความว่า

ถามว่า
บุคคลพวกไหนกรานกฐินไม่ขึ้น บุคคลพวกไหนกรานกฐินขึ้น


ตอบว่า
บุคคล ๓ พวกกรานกฐินไม่ขึ้น บุคคล ๓ พวกกรานกฐินขึ้น


ถามว่า
บุคคล ๓ พวกไหน กรานกฐินไม่ขึ้น


ตอบว่า
บุคคลอยู่นอกสีมาอนุโมทนา ๑ เมื่ออนุโมทนาไม่เปล่งวาจา ๑ เมื่อเปล่งวาจาไม่ให้ผู้อื่นรู้ ๑ บุคคล ๓ พวกนี้กรานกฐินไม่ขึ้น


ถามว่า
บุคคล ๓ พวกไหนกรานกฐินขึ้น


ตอบว่า
บุคคลอยู่ในสีมาอนุโมทนา ๑ เมื่ออนุโมทนาเปล่งวาจา ๑ เมื่อเปล่งวาจาให้ผู้อื่นรู้ ๑ บุคคล ๓ พวกนี้กรานกฐินขึ้น



วัตถุวิบัติ เป็นต้น
ถามว่า
การกรานกฐินเท่าไหร่ไม่ขึ้น การกรานกฐินเท่าไหร่ขึ้น


ตอบว่า
การกรานกฐิน ๓ อย่างไม่ขึ้น การกรานกฐิน ๓ อย่างขึ้น


ถามว่า
การกรานกฐิน ๓ อย่างเหล่าไหนไม่ขึ้น


ตอบว่า
ผ้าเป็นของวิบัติโดยวัตถุ ๑ วิบัติโดยกาล ๑ วิบัติโดยการกระทำ ๑ การกรานกฐิน ๓ อย่างนี้ไม่ขึ้น


ถามว่า
การกรานกฐิน ๓ อย่างเหล่าไหนขึ้น


ตอบว่า
ผ้าเป็นของถึงพร้อมด้วยวัตถุ ๑ ถึงพร้อมด้วยกาล ๑ ถึงพร้อมด้วยการกระทำ ๑ การกรานกฐิน ๓ อย่างนี้ขึ้น


อรรถกถาอธิบาย ผ้าเป็นของวิบัติโดยวัตถุ ได้แก่เป็นผ้าที่ไม่ควรวิบัติโดยกาลคือ ผ้าที่พวกทายกถวายในวันนี้
สงฆ์ให้แก่ภิกษุผู้กรานกฐินในวันพรุ่งนี้ วิบัติโดยการกระทำคือ ผ้าที่ตัดแล้วไม่ทำให้เสร็จในวันนั้นเอง


__________________
เสียงธรรมจากพระองค์ที่ ๑๐
ธรรมพระพุทธเจ้า คือธรรมชาติ ธรรมชาติที่ทุกคนก็มีอยู่ในตัวเอง
เพราะฉะนั้นเธอก็มีธรรมะ ฉันก็มีธรรมะ เธอกับฉันมีธรรมเสมอกันคือความตาย

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-10-2012 เมื่อ 03:12
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ป้านุช ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา