ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 06-07-2009, 09:09
ป้านุช's Avatar
ป้านุช ป้านุช is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: Bangkok Thailand
ข้อความ: 866
ได้ให้อนุโมทนา: 21,453
ได้รับอนุโมทนา 109,675 ครั้ง ใน 2,785 โพสต์
ป้านุช is on a distinguished road
Smile

พิธีทอดกฐิน


"เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระพรรษา

ชาวพาราเซ็งแซ่แห่กฐิน

ลงเรือเพียบพายยกเหมือนนกบิน

กระแสสินธุ์สาดปรายกระจายฟอง

สนุกสนานขานยาวฉาวสนั่น

บ้างแข่งขันต่อสู้เป็นคู่สอง

แพ้ชนะปะตาพูดจาลอง

ตามทำนองเล่นกฐินสิ้นทุกปี"


{นิราศเดือน โดยหมื่นพรหมสมพัตสร (นายมี)}

พิธีทอดกฐิน

เป็นงานบุญที่มีปีละครั้ง ท่านจึงจัดเป็นกาลทาน แปลว่า "ถวายตามกาลสมัย"
มีช่วงเวลาจำกัดเพียงปีละ ๑ เดือน ระหว่าง แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น จึงถือกันว่าการทอดกฐินได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก


คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง
คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ
ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้

คำว่า "กฐิน" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้กว้างขวาง โดยรวมถึงกรรมวิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกฐินตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนี้

"กฐิน น. ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือ ไม้แบบสำหรับตัดจีวร
คำ กฐิน นี้ ใช้ประกอบกับคำอื่นอันเนื่องด้วยพิธีกฐิน
ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ในพิธีนี้ เรียกว่า ผ้ากฐิน
ในฤดูกาล เรียกว่า กฐินกาล (กะถินนะกาน) คือ ระยะเวลาตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึง กลางเดือน ๑๒ ระยะเวลานี้ เรียกเป็นสามัญว่า เทศกาลกฐิน (เทดสะกานกะถิน) ฤดูกฐิน หรือ หน้ากฐิน ก็มี

ก่อนจะถึงกฐินกาล ผู้ประสงค์จะถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุสงฆ์วัดใด จะต้องไปแจ้งความจำนงว่าจะนำผ้ากฐินไปทอดที่วัดนั้นเป็นการล่วงหน้า
การแสดงความจำนงล่วงหน้านี้ เรียกว่า "จองกฐิน"
การทำพิธีถวายผ้ากฐิน เรียกว่า ทอดกฐิน
พระภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินจากสงฆ์โดยวิธีที่กำหนดไว้ในพระวินัย เรียกว่า ผู้ครองกฐิน ผู้กรานกฐิน หรือองค์ครองกฐิน
เฉพาะผ้ากฐิน บางทีก็เรียกว่า องค์กฐิน
ถ้าพร้อมกับของอื่นอันเป็นบริวารสำหรับถวายภิกษุสงฆ์ เรียกว่า เครื่องกฐิน หรือ บริวารกฐิน (บอริวานกะถิน)

เมื่อนำผ้ากฐินไปทอดโดยมีขบวนแห่ เรียกว่า แห่กฐิน
ถ้ามีพิธีฉลอง เรียกว่า ฉลองกฐิน
การที่ภิกษุสงฆ์ผู้ร่วมอยู่ในพิธี อนุโมทนาต่อองค์ครองกฐินตามพระวินัย หรือการที่บุคคลแสดงความยินดีในการที่เขาทอดกฐิน เรียกว่า อนุโมทนากฐิน
ภิกษุสงฆ์ผู้ได้อนุโมทนากฐินแล้วนั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้กรานกฐิน (กรานกะถิน) ด้วย
ผลของการทอดกฐิน เรียกว่า อานิสงส์กฐิน
ในทางวินัย สิทธิพิเศษ ๕ ประการ ซึ่งมีแก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว ก็เรียกว่า อานิสงส์กฐิน เช่นกัน


เหตุที่จะเกิดมีการทอดกฐินกันนั้น
เรื่องมีอยู่ว่า ภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป (คือ พระภัททวัคคีย์ ๓๐ นั่นเอง) ได้เดินทางจากเมืองปาฐา
เพื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่พอมาถึงเมืองสาเกตก็เป็นฤดูฝน เลยต้องพักจำพรรษาอยู่ที่นั่น
เมื่อออกพรรษาแล้วก็รีบเดินทางต่อไปยังเมืองสาวัตถี ต้องกรำฝนทนแดดไปตลอดทาง จีวรต่างชุ่มโชกไปด้วยน้ำฝนไปตาม ๆ กัน
พระพุทธองค์ทรงเห็นความลำบากตรากตรำของพระภิกษุเหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุได้รับกฐินเสียก่อน

ทั้งนี้เพราะเหตุว่า แม้จะออกพรรษาแล้วแต่ฝนก็ยังไม่ขาดเสียทีเดียว ถ้าหากจะรั้งรอไปอีกเดือนหนึ่ง พอฤดูฝนหายขาดแล้ว พื้นดินก็จะไม่เป็นเปือกตมอีก การเดินทางย่อมสะดวกสบาย
ฉะนั้น พระองค์จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุจำพรรษาตลอดไตรมาสแล้ว ได้ยับยั้งอยู่เพื่อรับกฐินเสียก่อน
จะได้ไม่ต้องได้รับความลำบากในการเดินทางอีกต่อไป
ต่อมาเมื่อมีปัญหาว่าผ้าที่ทายกนำมาถวายนั้นไม่พอกับจำนวนภิกษุที่จำพรรษาอยู่
พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้มีจีวรเก่ากว่าเพื่อนและฉลาดในพระธรรมวินัยเป็นผู้รับกฐิน และให้ภิกษุนอกนั้นเป็นผู้อนุโมทนา ก็จะได้อานิสงส์ในด้านพระวินัยเท่ากัน.

ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอเหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน
การทำจีวรในสมัยโบราณ จะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว

เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ
แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้นมาถวายพระภิกษุสงฆ์
มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์
(ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

พุทธศาสนิกชนทั่วไป ย่อมถือกันว่า การทำบุญทอดกฐินเป็นกุศลแรง เพราะเป็นกาลทาน ทำได้เพียงปีละ ๑ ครั้งและต้องทำในกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้
ดังนั้นถ้ามีความเลื่อมใสใคร่จะทอดกฐินบ้างแล้ว พึ่งปฏิบัติดังต่อไปนี้


จองกฐิน
เมื่อจะไปจองกฐิน ณ วัดใด พอเข้าพรรษาแล้ว พึงไปมนัสการสมภารเจ้าวัดนั้น กราบเรียนท่านว่า ตนมีความประสงค์จะขอทอดกฐิน
แล้วเขียนหนังสือปิดประกาศไว้ ณ วัดนั้น เพื่อให้รู้ทั่ว ๆ กัน การที่ต้องไปจองก่อนแต่เนิ่น ๆ ก็เพื่อให้ได้ทอดวัดที่ตนต้องการ
หากมิเช่นนั้นอาจมีผู้อื่นไปจองก่อน นี้กล่าวสำหรับวัดราษฎร์ ซึ่งราษฎรมีสิทธิจองได้ทุกวัด แต่ถ้าวัดนั้นเป็นวัดหลวง อันมีธรรมเนียมว่าต้องได้รับกฐินหลวงแล้ว
ทายกนั้น ครั้นกราบเรียนเจ้าอาวาสท่านแล้ว ต้องทำหนังสือยื่นต่อกองสัมฆการีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ขอเป็นกฐินพระราชทาน
ครั้นคำอนุญาตตกไปถึงแล้วจึงจะจองได้


เตรียมการ
ครั้นจองกฐินเรียบร้อยแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้วจะทอดกฐินในวันใด ก็กำหนดให้แน่นอน แล้วกราบเรียนให้เจ้าวัดท่านทราบวันกำหนดนั้น
ถ้าเป็นอย่างชนบท สมภารเจ้าวัด ก็บอกติดต่อกับชาวบ้านว่าวันนั้นว่านี้เป็นวันทอดกฐิน ให้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาอาหารไว้เลี้ยงพระ และเลี้ยงผู้มาในการกฐิน


จัดหาเครื่องผ้ากฐิน คือไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่น ๆ ตามแต่มีศรัทธามากน้อย (ถ้าจัดเต็มที่มักมี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร คู่สวดองค์ละ ๑ไตร)

วันงาน
พิธีทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น ๒ วัน
วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา
รุ่งขึ้นเป็นวันที่วัดทอด ถ้าไปทางบกก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น
ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล


การทอดกฐิน
จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย
เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น

อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น
เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล


การถวายผ้ากฐิน
การถวายผ้ากฐิน คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม ๓ จบ
แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ๓ จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้ายสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน
เมื่อจับได้ทั่วถึงกันแล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้วพระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่ภิกษุเถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ
แล้วพระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา
เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้


__________________
เสียงธรรมจากพระองค์ที่ ๑๐
ธรรมพระพุทธเจ้า คือธรรมชาติ ธรรมชาติที่ทุกคนก็มีอยู่ในตัวเอง
เพราะฉะนั้นเธอก็มีธรรมะ ฉันก็มีธรรมะ เธอกับฉันมีธรรมเสมอกันคือความตาย

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ป้านุช : 14-07-2009 เมื่อ 10:28
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 46 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ป้านุช ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา