ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 12-03-2015, 18:42
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,507
ได้ให้อนุโมทนา: 151,364
ได้รับอนุโมทนา 4,405,899 ครั้ง ใน 34,096 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

ปาติโมกฺเข จ สํวโร วิธีการข้อที่ ๓ ให้เราสำรวมในศีลของตน ฆราวาสทั่วไปก็ตั้งใจรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ อุบาสกอุบาสิกาก็ตั้งใจรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ สามเณรก็รักษาศีล ๑๐ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ พระภิกษุสงฆ์ก็รักษาศีล ๒๒๗ ข้อให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ นี่จึงเป็นวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ แปลว่า พึงรับประทานอาหารแต่พอสมควร ไม่มากจนเกินไป ไม่น้อยจนเกินไป การรับประทานอาหารมากจนเกินไป ร่างกายก็ง่วงซึม การปฏิบัติธรรมก็เป็นไปได้ยาก การรับประทานอาหารน้อยเกินไป ร่างกายได้รับทุกข์รับทรมาน จิตใจก็สงบลำบาก ดังนั้น..จึงต้องมีมัชฌิมาปฏิปทา คือรับประทานอาหารแต่เพียงพอกับธาตุขันธ์ของตนเอง อย่างเช่น พระปฏิบัติก็อาจจะฉันมื้อเดียว หรือเต็มที่ก็สองมื้อ ขณะเดียวกันชีวิตฆราวาสของเรา ต้องทำหน้าที่การงานต่าง ๆ หนักมาก ร่างกายต้องการธาตุอาหารจำนวนมากเพื่อเอาไปใช้งาน ก็ต้องกิน ๓ มื้อ เป็นต้น

วิธีการข้อต่อไป พระองค์ท่านตรัสว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ คือ รู้จักนั่ง รู้จักนอนในที่อันสงัด ผู้ที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ในระยะแรก ๆ กำลังใจยังไม่ทรงตัว ก็ต้องแยกออกจากหมู่ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมของเราให้เกิดผล ข้อสุดท้ายพระองค์ท่านตรัสวิธีการว่า อธิจิตฺเต จ อาโยโค แปลว่า เราจะต้องหมั่นฝึกปฏิบัติทางจิต เพื่อการก้าวล่วงจากกองทุกข์ เข้าสู่พระนิพพาน

ดังนั้น..ในวันมาฆบูชานั้น จึงเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศโอวาทปาฏิโมกข์ ก็คือ อุดมการณ์ ๔ ข้อ หลักการ ๓ ข้อ และวิธีการอีก ๖ ข้อของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย นำไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน เป็นแนวทางเดียวกัน โดยยึดหลักตามโอวาทปาฏิโมกข์นี้ จักได้ไม่ไปคนละทิศคนละทาง แล้วทำให้บางคนเขาสงสัย ว่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ทำไมจึงสอนไม่เหมือนกัน

ในขณะเดียวกัน องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แสดงซึ่งความกล้าหาญอย่างยิ่ง ดังที่บาลีกล่าวว่า สีหนาทํ นทนฺเต เต ปริสาสุ วิสารทา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมในท่ามกลางพุทธบริษัท ประดุจราชสีห์บันลือสีหนาท ก็คือพระองค์ท่านตรัสในสิ่งที่ถูกต้อง ในสิ่งที่เป็นจริงและปฏิบัติตามได้ แม้ว่าจะคัดค้านกับหลักการของศาสนาอื่นก็ไม่ได้หวั่นไหว ไม่ได้กลัวเกรง เพราะพระองค์ถือว่ากำลังแนะนำในสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์แก่เขาทั้งหลาย

องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู พระองค์รู้ว่าในเวลาไหนควรจะตรัสในเรื่องอะไร ที่เหมาะสมกับกาละคือเวลา และเทศะคือสถานที่นั้น ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่พระองค์ท่านมีพร้อม ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติตาม ก็ต้องรู้จักระมัดระวังในสิ่งที่เราพูด ในสิ่งที่เราทำ ว่าเหมาะสมกับกาลเทศะหรือไม่ เป็นต้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-03-2015 เมื่อ 20:25
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 40 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา