ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 08-03-2015, 11:31
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,507
ได้ให้อนุโมทนา: 151,364
ได้รับอนุโมทนา 4,405,826 ครั้ง ใน 34,096 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default เทศน์วันมาฆบูชา วันพุธที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๘

เทศน์วันมาฆบูชา ๒๕๕๘

(วันพุธที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘)





นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนนฺ ติฯ


ณ บัดนี้อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนาในโอวาทปาฏิโมกขกถา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาบารมี เพิ่มพูนกุศลบุญราศีแก่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้

ญาติโยมทั้งหลาย วันมาฆบูชานี้เป็น ๑ ใน ๔ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของเรา ที่ประกอบไปด้วย วันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ หรือถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส คือปีที่มีเดือนเกินมา ได้แก่ เดือน ๘ สองหน ก็จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ อย่างเช่นปีนี้ เป็นต้น

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ วันอัฐมีบูชาตรงกับวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ และวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ซึ่งถ้าในปีที่เป็นอธิกมาสนั้น วันวิสาขบูชาก็จะเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ วันอัฐมีบูชาตรงกับวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๗ และวันอาสาฬหบูชาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ หลัง ดังนี้

สำหรับวันมาฆบูชานั้น เพิ่งจะมีปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ของเรานั้น พระองค์ท่านบวชอยู่เป็นระยะเวลายาวนานถึง ๒๗ พรรษา ในระหว่างนั้นก็ทรงค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาจนแตกฉานช่ำชองเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ท่านทรงเห็นว่า วันมาฆบูชานั้นควรที่จะเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาได้ เนื่องจากเป็นวันที่ถึงพร้อมด้วยองค์ ๔ ซึ่งเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “จาตุรงคสันนิบาต” มี ๔ สิ่งสำคัญที่ปรากฏพร้อมกันในวันนั้นก็คือ

๑. เป็นวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ก็คือขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓
๒. มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ องค์มารวมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระสงฆ์ทั้งหมดนั้น เป็นผู้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานการบวชให้ด้วยพระองค์เอง เรียกว่า การบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๔. พระสงฆ์ทั้งนั้นล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันตขีณาสพ เป็นผู้ที่หมดสิ้นกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพิจารณาดังนั้นแล้ว เห็นว่าวันมาฆบูชานั้นควรที่จะจัดให้เป็นประเพณี เพราะเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา จึงได้ดำเนินการทำบุญเลี้ยงพระ ฟังเทศน์ฟังธรรมขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์ท่าน หลังจากนั้นก็นิยมจัดกันต่อเนื่องสืบ มาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นประเพณีวันมาฆบูชาจึงมีมาทีหลังสุด หลังจากวันวิสาขบูชา วันอัฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา แต่ว่าวันมาฆบูชาก็ได้รับความสำคัญในระดับเดียวกัน กับวันวิสาขบูชาและวันอาสาฬหบูชา

ยกเว้นวันอัฐมีบูชาซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระในวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ ซึ่งห่างจากวันวิสาขบูชาแค่ ๗ วันเท่านั้น หลายแห่งจึงไม่สะดวกที่จะจัดงานติด ๆ กัน ทำให้ความสำคัญของวันอัฐมีบูชาลดน้อยถอยลง ปัจจุบันนี้ในประเทศไทย ก็มีแค่ ๓ – ๔ แห่งเท่านั้น ที่จัดให้มีงานวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ที่เรียกว่า วันอัฐมีบูชา นอกนั้นก็ไม่ได้จัด

ดังนั้น..วันมาฆบูชาแม้ว่าจะมาทีหลัง แต่ว่าได้รับความสำคัญพอ ๆ กับวันวิสาขบูชาและวันอาสาฬหบูชา ส่วนวันอัฐมีบูชาที่ได้รับการยอมรับกันมาตั้งแต่ต้นกลับไม่นิยมจัดกัน จนกระทั่งเลือนหายไป ทำให้บางท่านพอได้ยินว่าวันอัฐมีบูชา ก็ยังสงสัยว่าเป็นวันอะไรกันแน่
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 08-03-2015 เมื่อ 11:33
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 84 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา