ดูแบบคำตอบเดียว
  #8  
เก่า 14-05-2009, 12:24
คนเก่า's Avatar
คนเก่า คนเก่า is offline
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: ชมพูทวีป
ข้อความ: 189
ได้ให้อนุโมทนา: 21,727
ได้รับอนุโมทนา 55,279 ครั้ง ใน 1,402 โพสต์
คนเก่า is on a distinguished road
Default

ด้านหลัง ประกอบด้วยรูปแบบและความหมาย

๑. ตรงกลางมีวงกลม ภายในวงกลมมีชื่อ ทัพไทยทอง เป็นตัวหนังสือแบบที่จดจารลงบนกระเบื้อง หมายถึง พระเจ้าทัพไทยทอง เป็นกษัตริย์ที่ครองสุวรรณภูมิ เมื่อศักราชปีโล ๑๑๑๒ และเสด็จไปเวฬุวันเฝ้าพระพุทธเจ้า รับพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เปลี่ยนชื่อจากเมืองทองไทยลว้าเป็นสุวัณณภูมิและสร้างวัดแรกในไทยชื่อ วัดปุณณาราม

๒. ภายในวงกลมรอบนอกที่ ๒ มีอักขระชื่อ ขุนสรวง ขุนนางสาง กลายร่างมาจากภัสสรเทพมหาพรหม หลังจากชิมง้วนดินแล้วเป็นต้นตระกูลไทยมีลูกหลานสืบมา

- อักขระชื่อ ขุนไทยแก้ว ขุนหญิงแก้วขวัญฟ้า เป็นชื่อของผู้มีหน้าที่เป็นเจ้าทะเล และแม่ย่านางเรือ ดูแลคนไทยในทะเลมาตั้งแต่ปลายยุคพุทธันดรที่ ๒ น้ำท่วมโลก (เป็นเรื่องตามตำนานของไทยที่เชื่อถือกันมาในอดีต)

- อักขระชื่อ ขุนอินเขาเขียว ขุนหญิงกวักทองมา เป็นชื่อของต้นครูไทย มีลูกชาย ๑๓ คน ครองเมือง ๑ คน อีก ๑๒ คน มีชื่อตามนามปี มีลูกหญิง ๗ คน มีชื่อตามนามวัน บรรดาลูกชายหญิงของท่านทั้ง ๒ ต่างก็คิดวิธีทำมาหากินเพื่อดำรงชีพจนกลายเป็นต้นตระกูลไทยในสายวิชาต่างๆ สืบมา

๓. ภายในวงกลมที่ ๓ เป็นเปลวเพลิง และรัศมีสั้นยาวสลับกัน เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระเจ้าตะวันอธิราช กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของสุวรรณภูมิ และทำนุบำรุงพระศาสนาจนตั้งมั่นยืนยาวถึงปัจจุบัน

๔. รอบรัศมีดวงอาทิตย์ มีอักขระ ๘ ตัว เป็นหัวใจพาหุงทั้ง ๘ บท เป็นบทสวดบวงสรวงสมโภชอนุโมทนา เพื่อให้เทวดาบนสรวงสวรรค์เพื่อประกาศถึงความสำเร็จ

๕. ระหว่างรัศมีพระอาทิตย์ มีวงกลมล้อมรอบดวงอาทิตย์ ๘ ดวง แทนองค์เจ้าดาวเด่นฟ้าและเดือนเด่นฟ้า โอรส ๒ พี่น้องของพระเจ้าตะวันอธิราช เปรียบเสมือนดาวนพเคราะห์ที่หมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ตามระบบสุริยะจักรวาลและเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด ระยะเวลาแห่งกาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเพื่อให้ทุกชีวิตที่เกิดมาได้มีโอกาสสร้างความดีและความชั่วตามขันธสันดานของแต่ละบุคคล

๖. ภายในวงกลมทั้ง ๘ ดวง เป็นหัวใจอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องประสบทุกคน และอักขระอีก ๔ ตัว เป็นธาตุทั้ง ๔ ของมนุษย์ ที่อาศัยดำรงชีวิตบนดาวนพเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาล เพราะมนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดตามวัฏจักร ตราบใดที่ยังไม่บรรลุธรรม

๗. ระหว่างดวงดาวทั้ง ๘ ดวง เป็นที่ว่างเปรียบเสมือนท้องฟ้าอันเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ชื่อของบรรดาขุนชาย ขุนหญิงที่มีพระคุณต่อแผ่นดินและลูกหลานไทย ตามรายชื่อและประวัติดังนี้ จากซ้ายมือด้านปีชวดตามเข็มนาฬิกา

๗.๑ ขุนลือต้นไทยทอง ขุนหญิงโพสพ ครองสุวรรณภูมิ เมื่อศักราชปีอินที่ ๑๔๐๒ ในสมัยของท่านทั้ง ๒ ได้คิดพิธีทำขวัญข้าว บวงสรวงเกี่ยวกับพืช และคิดค้นการเพาะปลูก การทำนาปลูกข้าวให้เป็นระบบ และการเก็บเข้ายุ้งฉาง เมื่อตายไปพระมเหสีคนนับถือเป็นเจ้าแม่โพสพ

๗.๒ ขุนสือไทยและขุนขอมฟ้าไทย ครองสุวรรณภูมิเมื่อศักราชปีอินที่ ๑๒๑๕ ทั้ง ๒ ท่านช่วยกันคิดลายสือไทยและลายสือขอม เป็นครั้งแรก ส่วนขุนหญิงไทยงามเป็นมเหสีของขุนสือไทย คิดการทอผ้าดอก ผ้ายก ลายสือ ลายนกคู่ มีมาในแผ่นดินไทยนับพันปี เป็นต้นครูทอผ้า

๗.๓ พระเจ้าโลกลว้า พระนางก้านตาเทวี ครองสุวรรณภูมิเมื่อศักราชปีโลที่ ๑๔๑๐ ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๐ (พระบิดาของพระเจ้าตะวันอธิราช) เป็นผู้รับสมณทูตทั้ง ๕ รูป ที่พระเจ้าอโศกมหาราชส่งมาเผยแพร่ศาสนาหลังจากสังคายนาแล้ว เป็นกษัตริย์ไทยที่ให้มีพิธีกฐิน ถวายกฐินเป็นพระองค์แรกและพิธีจุลกฐินก็มีขึ้นในสมัยของท่านเป็นครั้งแรก กลายเป็นประเพณีสืบมาและในสมัยของท่าน มีการส่งพระภิกษุสงฆ์ของไทยไปศึกษาที่ประเทศอินเดีย ๑๑ รูป สามเณร ๓ รูป

๗.๔ พระเจ้าตะวันอธิราช พระนางสิริงามตัวเทวี ครองสุวรรณภูมิเมื่อ พ.ศ.๒๔๕ ในสมัยของท่านนอกจากการเสริมสร้างโรงเรียนและกองทัพบ้านเมืองแล้ว ยังส่งเสริมให้พระสงฆ์เรียนการสวด"สาธยายพระไตรปิฎก"เรียนสวดสังโยคมีการปั้น ให้ปั้นพระพุทธรูปตั้งเป็นพระประธาน ณ ศาลา นำวิธีการกราบพระ ตั้งนะโม การสวดคณะสัชฌายสังคีติ คือ สังคีตีสาธยายเป็นคณะจัดให้มีการไหว้พระสวดมนต์ เจริญพระพุทธมนต์ และในพิธีการต่างๆ เช่นการถวายพรพระอนุโมทนาวิธี โกนจุก ทำบุญอายุ พิธีการศพ เช่น สวดมาติกา สวดอภิธัมม ๗ พระคัมภีร์ และสวดหน้าไฟ โดยมีพระโสณมหาเถระ เป็นผู้นำฝึกสอน และพระเจ้าตะวันอธิราชเป็นผู้วางระเบียบให้เป็นประเพณีไทย จึงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

๗.๕ พระเจ้าเดือนเด่นฟ้าอธิราช ครองสุวรรณภูมิเมื่อปี พ.ศ. ๓๐๕ พระโอรสของพระเจ้าตะวันอธิราช เดือนเด่นฟ้าและดาวเด่นฟ้าได้ช่วยกันวางรากฐานทางศาสนา ดูแลพระสมณทูตตลอดเวลา ช่วยในการจดจารจารึกเรื่องราวคำสอน พิธีการ และเรื่องของบ้านเมือง ท่านทั้งสองได้สร้างวัดหลายวัด เช่น สร้างวัดพระธาตุเจดีย์ที่เมืองช้างค่อมแล้วให้ชื่อว่า นครธัมมราช นิมนต์พระมูนียะไปอยู่ช่วย

- สร้างวัดพระธาตุและวัดดงสัก ที่เมืองนองทอง (กาญจนบุรี) นิมนต์พระอุตตรไปอยู่ช่วย
- สร้างวัดพระธาตุ ที่เมืองเถือมทอง (นครปฐม) นิมนต์พระภูริยะไปอยู่ช่วย
- สร้างวัดพระธาตุ เมืองอู่ทองและวัดป่าเรไร (สุพรรณบุรี) นิมนต์พระอุตตรไปอยู่ช่วย
- นำศาสนาไปเขมร สร้างวัดพระธาตุ นิมนต์พระภูริยะไปอยู่ช่วย เมื่อวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๘๒
- สำหรับนครศรีธรรมราชนั้น นอกจากสร้างวัดพระธาตุแล้วยังสร้างโรงเรียนนายเรือ และตั้งกองทัพเรือใหญ่เพื่อสะดวกในการดูแลอาณาประเทศทางทะเลใต้ได้ทั่วถึง

๗.๖ ขุนจัทรภาณุครองสุวรรณภูมิ พ.ศ. ๑๐๐๐ เมื่อถึง พ.ศ. ๑๐๑๘ มอบเมืองให้อนุชาชื่อขุนหาญบุญไทยอยู่รักษาเมืองแล้วยกทัพไปชมพูทวีป (อินเดีย) ถึง พ.ศ. ๑๐๒๐ ไปเป็นมหาราชในอินเดีย หลังจากนั้นเพียง ๒ - ๓ ปี ขุนอินไสเรนทร ลูกขุนจันทรภาณุคงจะนึกไปถึงคำโสณทำนายชะตาบ้านเมืองของสุวรรณภูมิ จึงมีความเห็นว่าควรย้ายเมืองและผู้คนไปเมืองธัมมราช (นครศรีธรรมราช) เพราะชอบดินฟ้าอากาศ ขุนหาญบุญไทยผู้เป็นอาคัดค้าน ให้รอขุนจันทรภาณุกลับมาก่อน ขุนอินไสเรนทรไม่ฟังคำ จึงพาผู้คน ๒,๐๐๐ ไปสร้างเมืองใหม่ที่เมืองธัมมราชเมื่อ พ.ศ. ๑๐๒๓ และให้ชื่อว่า ศิริธัมมราช หรือศรีวิชัยสุวรรณภูมิ ครั้น พ.ศ.๑๐๒๖ สร้างเมืองเสร็จกลับมาอพยพ เอาแม่และน้อง ขุนอินเขาเขียวพร้อมพลเมืองอีก ๑๕,๐๐๐ คนไปอยู่ที่ศรีวิชัยสุวรรณภูมิ เมื่อขุนจันทรภาณุกลับมาก็ลงมาอยู่ที่ศิริธัมมราชด้วย สุวรรณภูมิหมดกษัตริย์ หลังจากนั้นขุนจันทรภาณุกลับไปเยี่ยมสุวรรณภูมิพร้อมขุนหญิงทองสีมา มเหสีอีกครั้ง เมื่อวันขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๖ ปี พ.ศ. ๑๐๒๗ จากข้อความในกระเบื้องจารจารึกขุดได้ที่ตำบลท่าเรือ จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่าในปี พ.ศ. ๑๔๑๐ ขุนอินไสเรนทรครองศรีวิชัยสุวัณณภูมิ แสดงว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๔๑๐ นครศรีธรรมราชยังใช้ชื่อ ศรีวิชัยสุวัณณภูมิ

๗.๗ ขุนหาญบุญไทย ครองสุวรรณภูมิ พ.ศ. ๑๐๓๐ - ๑๐๓๕ สร้างเมืองใหม่ย้ายมาจากสุวรรณภูมิเดิมมาตั้งที่หน้าเขางูและสร้างวัดสี่มุมเมืองบรรจุพระธาตุ ทิศตะวันออกสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทิศเหนือสร้างวัดพระธรรมเจดีย์ ทิศใต้สร้างวัดพระพุทธเจดีย์ ทิศตะวันตกสร้างวัดอรัญญิกาวาส วัดนี้มีเจดีย์หินแกรนิตบนเจดีย์สลักหินรูปพญาราหูอมจันทร์รอบ สร้างเสร็จ พ.ศ. ๑๐๓๕

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย คนเก่า : 14-05-2009 เมื่อ 16:17
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 24 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ คนเก่า ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา