ดูแบบคำตอบเดียว
  #27  
เก่า 30-04-2012, 15:51
ลัก...ยิ้ม ลัก...ยิ้ม is offline
ทีมงานเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 3,361
ได้ให้อนุโมทนา: 23,340
ได้รับอนุโมทนา 187,548 ครั้ง ใน 5,403 โพสต์
ลัก...ยิ้ม is on a distinguished road
Default

เด็กชายบัว ผู้เกรงกลัวบาป

มีอยู่ครั้งหนึ่งในวัยเด็กขององค์หลวงตา ซึ่งท่านยังจำได้ไม่เคยลืมเลือน ท่านเล่นซุกซนชนิดที่เพื่อนรุ่นพี่ด้วยกันยังรับไม่ได้ ครั้งนั้นเด็กชายบัวเห็นพวกผู้ใหญ่เขาตัดต้นมะอึก (เป็นต้นไม้พุ่มมีหนามกอใหญ่ ๆ) ทิ้งไว้ข้างทาง เกิดนึกสนุกอยากแกล้งคน จึงไปลากกิ่งไม้มะอึกที่มีหนามมาขวางทางเดินไว้ เพื่อนรุ่นพี่ที่ไปด้วยกันเห็นเข้าจึงถามขึ้นว่า
‘มึงจะทำอะไรนี่ ?’

‘เอามาขวางทางคนเดินนะสิ’ เด็กชายบัวตอบ

‘มึงเอามาหาพ่อมึงอะไร มึงไม่รู้จักหรือว่าไม้มันมีหนาม มันกีดขวางทางคนเดิน ?’

‘รู้...แต่กูจะทำ คนเขาเดินมา เขาจะด่าก็ช่างหัวเขา กูสนุกของกู’ เด็กชายบัวตอบไปตามประสาเด็ก ๆ ไม่รู้เรื่องกำลังซุกซน

‘มึงเอาออกไป…เดี๋ยวนี้’ หนุ่มรุ่นพี่ขู่เด็กชายบัวให้เอาออกโดยเร็ว และแล้วในที่สุด เด็กชายบัวก็ยอมเป็นผู้เอาออกแต่โดยดี

เรื่องนี้ ท่านอธิบายถึงอุปนิสัยในวัยเด็กของท่านเองว่า “นิสัยนี้เป็นนิสัยของมันเอง ก็คือนิสัยกิเลสนั่นแหละ จิตใจคนเรามันมีเป็นขั้น ... เป็นขั้น... ในเวลานั้นไม่ได้นึกถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆอะไร หนักเบาอะไร ๆ ไม่นึกถึง มันดิ้นไปตามกิเลส ที่เป็นนิสัยดั้งเดิมของมันเอง

เกี่ยวกับการใช้ภาษา ในการพูดคุยสนทนากันของคนในสมัยเมื่อท่านยังเด็ก องค์หลวงตาเคยกล่าวถึงไว้แบบขำขันว่า “ก็เราเป็นลูกชาวนา พ่อแม่ทำไร่ทำนา ไม่ได้พาซื้อพาขายอะไร จึงไม่ได้ชำนิชำนาญในเรื่องตลาดภาษิต ภาษาสังคมต่าง ๆ ไม่ค่อยเข้าใจ พวกกันก็ต้องพูดภาษาชาวนาไปเลย (หัวเราะ)”

ด้วยเหตุนี้เอง การพูดจากันระหว่างพี่น้อง เพื่อนฝูง ซึ่งมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันในสมัยนั้น จึงมักใช้ภาษาเป็นแบบกันเอง ไม่ได้ถือเป็นคำหยาบคายอะไร เป็นภาษาชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่ภาษาคนเมือง ที่ต้องใช้เพื่อการติดต่อซื้อขายเป็นการเป็นงานประจำระหว่างกัน

อีกเรื่องหนึ่ง ในวัยเด็กขององค์หลวงตาที่ท่านไม่เคยลืมเลือนเลย เป็นการพูดคุยกันระหว่างผู้ใหญ่ ๒ คน ครั้งนั้น ท่านได้ยินผู้ใหญ่เขาพูดคุยกันเป็นเชิงทีเล่นทีจริง คนหนึ่งเป็นคนใจบุญสุนทาน อีกคนหนึ่งใจบาปชอบเข้าป่าเข้าเขา หายิงเนื้อยิงสัตว์ หาจับปู จับปลาเป็นประจำอยู่อย่างนั้นตลอด คนที่ใจบุญก็ชอบทำบุญทำทาน วันพระวันเจ้า ถ้าวัดใกล้บ้านไม่มีพระ ก็ไปทำบุญทำทานวัดอื่น ในวันพระไม่เคยละเว้น ที่นี้เวลาจะไปวัดก็เลยมาชวนเพื่อนอีกคนว่า
‘เพื่อน.. เพื่อน วันนี้เราจะไปวัด ไปวัดด้วยกันไหม ?’

‘อู๊ย ๆ วันนี้กูไม่ไปแหละ มึงไปวัดแล้วมึงได้บุญกุศล มึงไปสวรรค์แล้ว มึงจะได้ไม่มาแย่งหาสัตว์ หาฆ่าเนื้อฆ่าปลากับกู กูจะสนุกหาตกปู ตกปลา ไม่มีใครมาแย่งกู’

ท่านเล่าถึงความรู้สึกในครั้งนั้นว่า ทั้ง ๆ ที่เราเป็นเด็ก ทำไมมันจึงไม่ลืม ไม่เคยลืมเลยนะ คำพูดอย่างนี้เราได้ยินจริง ๆ เต็มหูเราเลย เราอุทานในใจว่า
‘โอ๊ย! ผู้เฒ่าทำไมพูดอย่างนี้ คนทั้งโลก เขารักบุญ รักกุศล รักการให้ทาน เอ๊ะ! ทำไมแกจึงพูดอย่างนี้ได้ จะเป็นลักษณะคำพูดมันมีทีเล่นทีจริงก็ตาม แต่มันก็ไม่น่าจะเอามาพูด’

เรื่องในวัยเด็กทั้งสองเรื่องนี้ สะท้อนถึงความสามารถในการแยกแยะผิดชอบชั่วดีตั้งแต่ยังเล็กของท่าน แม้จะเป็นวัยที่ยังมีความซุกซนอยู่ไม่น้อยก็ตาม สิ่งนี้บ่งบอกถึงคุณธรรมที่ฝังอยู่ลึกในใจท่าน ทำให้ท่านในวัยเด็กรู้สึกได้ว่า การพูดจาของผู้ใหญ่เช่นนี้มันเป็นความเสียหาย และจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อไปในอนาคตอย่างแน่แท้

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 30-04-2012 เมื่อ 21:56
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 65 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ ลัก...ยิ้ม ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา