การบวชในพระพุทธศาสนา
พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ศัพท์ว่า บวช มาจากศัพท์บาลีว่า “ปัพพัชชา” (ซึ่งมาจาก ป + วัช + ธาตุ) หมายความว่า ออก หรือเว้นจากความพันพัวกับการครองเรือน ตลอดไปถึงจากความประพฤติชั่ว ได้แก่การหลีกออกจากบ้านเรือนไปหาที่สงัด ที่ไกลจากบ้านเรือน เช่น ในป่า ทำที่พักพออาศัยอยู่ได้ เช่น บรรณศาลา (ทับใบไม้) เพื่อทำความสงบระงับชั่วคราวบ้าง ตลอดไปบ้าง เขาถือกันว่าเป็นการประกอบการกุศลหรือบุญอย่างสูง มีมาก่อนแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นาน
ตามประวัติแสดงว่า เมื่อชาวอริยกะเข้าไปในอินเดีย ในชั้นต้นนับถือ เทวะ หรือ เทพเจ้า ครั้นแล้วก็เลื่อนมานับถือพระพรหม จึงบูชาเซ่นสรวง และอ้อนวอน เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนปรารถนา ต่อมาก็คิดเห็นขึ้นว่า ชีวิตนี้ย่อมสืบเนื่องมาจากกรรมเก่าซับซ้อนขึ้นไปจนกำหนดไม่ได้ แต่ข้อสำคัญที่สุดนั้น เมื่อเกิดมาก็ย่อมมีสุขและทุกข์เจือกันไป ส่วนที่เป็นสุขก็ชอบใจ แต่ส่วนที่เป็นทุกข์ก็ไม่ชอบไม่อยากได้พบเห็น จึงคิดหาทางหนีทุกข์ และก็เห็นต่าง ๆ กัน จึงประกอบการที่เห็นว่าเป็นตบะต่าง ๆ กัน การบวชครั้งนั้น ก็เป็นตบะอย่างหนึ่ง (วิธีบำเพ็ญตบะนั้นต่าง ๆ กันตามความคิดเห็น ไม่กล่าวไว้ ในที่นี้)
มีเรื่องเล่าไว้ว่า กษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง ไปบวชเป็นฤๅษี เช่น พระชนก กษัตริย์ผู้ครองกรุงมิถิลา ออกไปบวชเป็นฤๅษี ในเรื่องรามายณะ เป็นต้น แม้ในพระพุทธประวัติตอนก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็มีเรื่องแสดงว่า อาฬารดาบส อุททกดาบส พระชฏิล ๑,๐๐๐ สัญชัยปริพาชกกับบริวาร ฤๅษีปัญจวัคคีย์ ออกบวชอยู่ก่อนแล้ว คนรักษาศีล ๘ ในวันพระชั่ววันและคืนหนึ่ง และคนรักษาศีล ๕ ก็น่าจะนับเข้าในการบวชด้วย แต่ยิ่งหย่อนกว่ากันตามชั้น เพราะฉะนั้น จึงมีพระพุทธภาษิต (คำที่พระพุทธเจ้ากล่าว) แสดงธรรมะหมวดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สัปปุริสบัญญัติ (ข้อที่สัตบุรุษตั้งไว้) บัณฑิตบัญญัติ (ข้อที่บัณฑิตตั้งไว้) มีธรรม ๓ ข้อ คือ ทาน การให้ ๑ บัพพัชชา การบวช ๑ มาตาปิตุปัฏฐาน การบำรุงมารดาบิดา ๑ นี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง แต่สัตบุรุษและบัณฑิตได้บัญญัติไว้ก่อนแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงนำมาแสดงเท่านั้น
__________________
สักวันหนึ่งสี่ชีวิตจะได้พบซึ่งกันและกันเมื่อทุกอย่างพร้อม
|