ถาม : ตอนที่คุยกับเพื่อนชาวต่างชาติ เขาแปลกใจมากที่คนไทยเปลี่ยนนามสกุลง่ายมาก ของเขาจะเปลี่ยนนามสกุลใหม่จะต้องดูว่าสีประจำตระกูลสีอะไร ? มีตราประจำตระกูลอะไร ?
ตอบ : อันนั้นเขาเรียกว่ายังหวงตระกูล คนไทยเขาไม่หวง เพราะปกติเราไม่มีนามสกุลอยู่แล้ว คนไทยเราเริ่มมีนามสกุลสมัยรัชกาลที่ ๖ ขนาดสมัยอาตมาเด็ก ๆ คนทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ เขาสืบสายตระกูลขึ้นไปได้หมดแหละ พอบอกว่าเป็นใครหรือลูกใครเท่านั้นแหละ เขาจะบอกเลย อ๋อ..ปู่เอ็งคนนั้น ทวดเอ็งคนนั้น เขาบอกได้หมดเลย เขาใช้วิธีจำอย่างนี้
แต่พอระยะหลังคนมากขึ้น ๆ จำกันไม่ไหวก็ต้องมีนามสกุลขึ้นมา ขนาดมีนามสกุลแล้ว ลองไปดูทะเบียนราษฎร์สิ ชื่อเดียวกันนามสกุลเดียวกันเป็นสิบ ๆ ก็มี จนกระทั่งบางคนไม่ได้ทำคดีอะไรไว้เลย จู่ ๆ โดนหมายเรียก เพราะชื่อนามสกุลตรงกัน
อาตมาเองตอนเรียนมัธยม มีรุ่นพี่แต่เขามีศักดิ์เป็นหลาน ถึงบอกว่าลำดับตระกูลของตัวเองสูงมาก เขาเป็นรุ่นพี่ ๒ ปีแต่มีศักดิ์เป็นหลาน ชื่อเดียวกัน นามสกุลเดียวกัน เป็นญาติกัน พอเขากลับไปบอกทางบ้าน กลับโดนพ่อเขาด่า บอกว่าดันไปตั้งชื่อเดียวกับอาได้อย่างไร โอ้โห..พ่อเขาพูดออกมาได้ ก็เขาเกิดก่อน สรุปแล้วเขาต้องเปลี่ยนชื่อ คนอาวุโสกว่าได้เปรียบ ไม่ต้องเปลี่ยนทั้งที่เกิดทีหลัง
บางทีทางไทยเราคิดนามสกุลไม่ทัน ก็ใช้ชื่อปู่ย่าตาทวดมาผสมกันเป็นนามสกุลเยอะแยะไป ส่วนนามสกุลของชาวต่างชาติเองก็มีพวกคาร์เพ็นเตอร์ อาชีพช่างไม้ สมิธ พวกช่างทอง ช่างเหล็ก เขาก็สืบสายกันไปก็ได้ สมัยอาตมาเด็ก ๆ ก็ยังมีนะ นามสกุล ชาวนา ชาวไร่ มีจริง ๆ ยังมีเพื่อนหลายคนที่นามสกุลแบบนี้ นายทะเบียนคิดไม่ทันก็ใส่ไปเรื่อย
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 19-04-2012 เมื่อ 17:41
|