ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 07-10-2011, 09:13
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,700
ได้ให้อนุโมทนา: 152,038
ได้รับอนุโมทนา 4,418,254 ครั้ง ใน 34,290 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

หลายท่านเมื่อสมาธิทรงตัวดีมาก เริ่มปล่อยวางได้ทั้ง ๆ ที่เป็นการปล่อยวางในลักษณะของผู้ทรงฌาน ก็เผลอไปคิดว่าตนเองเป็นพระอริยเจ้าเสียแล้ว เพราะว่ารัก โลภ โกรธ หลง ไม่มีเลย เนื่องจากว่าโดนอำนาจแห่งฌานสมาบัติกดดับสนิทไปชั่วคราว ตรงจุดนี้ทุกท่านต้องระวังให้จงหนัก การปฏิบัติอย่าเชื่อง่าย ๆ ว่าเราดีแล้ว ต้องทบทวนแล้วทบทวนอีก

แม้ว่าทบทวนแล้ว ถ้าเป็นบุคคลที่ปัญญาถึงจริง ๆ ก็จะปฏิบัติตามกฎกติกาที่ตนเองยึดถือต่อไป โดยไม่ได้ไปหมายมั่นปั้นมือว่าเราเป็นพระโสดาบันแล้ว เราเป็นพระสกิทาคามีแล้ว เราเป็นพระอนาคามีแล้ว เราเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะว่าถ้าหากว่าเราไปมั่นใจตนเองลักษณะนั้น ก็คือตกอยู่ในความประมาทนั่นเอง

ฉะนั้น..เราจะเห็นได้ว่า คำว่า "ธรรมดา" ก็ดี หรือ "ความไม่ประมาท" ก็ดี จะว่าไปแล้วก็เป็นข้อธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบ และนำมาสั่งสอนพวกเรา เป็นข้อธรรมที่ครอบคลุมกว้างขวางมาก สามารถใช้เป็นหลักปฏิบัติได้ตั้งแต่ต้นยันปลายเลยทีเดียว

ถ้าหากว่าเรายังไม่สามารถที่จะเห็นธรรมดาได้ ก็แปลว่าสติ สมาธิ ปัญญาของเรายังไม่เพียงพอ ต้องมีการสั่งสมเพิ่มเติมขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง เราก็ต้องเพียรพยายามอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญาของเราให้เข้มข้นมากกว่านี้

ต้องทบทวนอยู่ทุกวันว่าศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือสิกขาบทของเราสมบูรณ์บริบูรณ์ดีหรือไม่ ? เราล่วงละเมิดศีลด้วยตนเองหรือไม่ ? ถ้าเราไม่ละเมิดศีลแล้ว เรายุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ? ถ้าเราไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมผู้อื่นให้ละเมิดศีล ถ้าเราเห็นผู้อื่นละเมิดศีลแล้ว เราพลอยยินดีด้วยหรือไม่ ?

ส่วนในเรื่องของสมาธินั้น อย่างน้อยที่สุดท่านทั้งหลายต้องทรงฌานได้ในระดับปฐมฌานละเอียดขึ้นไป เนื่องจากว่าปฐมฌานหยาบนั้นกำลังไม่เพียงพอที่จะใช้งานได้ เพราะสภาพจิตที่หยาบทำให้ขาดสติได้ง่าย ไม่อาจจะอาศัยเป็นกำลังที่ใช้ในการตัดกิเลสได้อย่างแท้จริง จะต้องทรงอย่างน้อยปฐมฌานละเอียดขึ้นไป

ท่านทั้งหลายที่ยังไม่เห็นธรรมดานั้น แสดงว่ากำลังสมาธิยังขาดความคล่องตัว ยังขาดความหนักแน่นแห่งจิต จึงต้องมาเร่งรัดในเรื่องของสมาธิ คือการตามดูลมหายใจเข้าออกของเราให้ทรงตัวมากยิ่งขึ้น
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 07-10-2011 เมื่อ 16:14
สมาชิก 72 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา