การที่เราจะหยุดไม่ให้นึกคิดปรุงแต่งได้นั้น เราจะต้องมีครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา การที่เราควบคุม กาย วาจา ของเราให้อยู่ในกรอบของศีลได้ ก็แปลว่าสติของเราต้องมั่นคงอยู่ในระดับหนึ่ง ถ้าสติมั่นคงก็จะสร้างสมาธิให้เกิดขึ้น เมื่อสมาธิทรงตัวมั่นคงได้ระดับอัปปนาสมาธิอย่างน้อยปฐมฌานขึ้นไป ก็จะเป็นพื้นฐานในการสร้างปัญญาให้เกิด
เราก็ใช้กำลังของสมาธิและปัญญาที่เกิดขึ้นนั้น มาพิจารณาให้เห็นว่า การที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสนั้น ไม่ว่าจะชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ตาม ล้วนแต่เป็นไปเพื่อทุกข์ทั้งสิ้น ชอบใจก็ต้องเหนื่อยยากดิ้นรนไปไขว่คว้าหามา ไม่ชอบใจก็ต้องผลักไสไล่ส่งออกไป สร้างความเหน็ดเหนื่อยแก่เราโดยไม่รู้จบ
ดังนั้น..ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะหยุดอยู่กับปัจจุบัน การที่จะไปปรุงแต่งอีกก็จะหยุด ถ้าหากว่าเราหยุดคิดได้เมื่อไร หยุดการปรุงแต่งได้เมื่อไร ทุกอย่างก็จะหยุดหมด ดับหมด นิโรธคือการเข้าถึงความดับอย่างแท้จริง คือการดับทุกข์ ดับกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมทั้งปวง จะปรากฏขึ้นแก่เรา
บุคคลที่เข้าถึงตรงนี้ เราจะมีพระนิพพานเป็นที่พึ่ง เราจะมีพระนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า จะไม่คิดดิ้นรนอยากได้ใคร่ดีต่อสิ่งใดอีก กระทำทุกอย่างเพียงเป็นไปตามหน้าที่เท่านั้น ดีก็ไม่ได้ใส่ใจ ชั่วก็พยายามละเว้น ถ้าอย่างนี้ท่านทั้งหลายก็มีสิทธิ์ที่จะหลุดพ้นก้าวเข้าสู่พระนิพพาน ซึ่งเป็นแดนอมตะ ปราศจากความทุกข์ทั้งปวงได้
ลำดับต่อไปก็ให้ทุกคนตั้งใจกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 11-07-2011 เมื่อ 14:25
|