พระบาลีท่านว่า
กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ**** การเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก เกิดมาแล้วจะรักษาชีวิตจนได้พบพระพุทธศาสนาก็ยิ่งยาก พบพระพุทธศาสนาแล้วจะได้ฟังธรรมก็ยาก ฟังธรรมแล้วจะเลื่อมใสก็ยาก เลื่อมใสแล้วจะปฏิบัติตามก็ยาก
ในเมื่อเราประกอบไปด้วยคุณสมบัติที่ดี ซึ่งหาได้ยากขนาดนี้ ก็ขอให้เรามั่นใจว่า ตัวเราเองสร้างบุญสร้างบารมีมามากพอแล้ว แม้จะมองย้อนหลังไปไม่ครบถ้วน นับชาติไม่ถ้วนแล้วก็ตาม แต่ขอให้ทุกคนมั่นใจว่า สิ่งที่เราทำมานั้น เป็นสิ่งที่ทำในส่วนของความดี ที่พอเพียงแก่การที่จะเข้าถึงมรรคผลได้ในปัจจุบันนี้
ในเมื่อคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้ายังสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ ท่านบอกว่า
“ตราบใดที่อริยมรรคมีองค์แปดยังครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ ตราบนั้นสมณะที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ยังมีอยู่ในพระศาสนานี้”
สมณะที่หนึ่งคือพระโสดาบัน ที่สองคือพระสกิทาคามี ที่สามคือพระอนาคามี ที่สี่คือพระอรหันต์ ท่านบอกว่าธรรมวินัยใดถ้าหากไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์แปดแล้ว ธรรมวินัยนั้นไม่สามารถที่จะมีพระอริยเจ้าได้
อันนี้เกิดจากที่
สุภัททปริพาชกไปถามพระพุทธเจ้าว่า พระธรรมวินัยนี้ทำให้คนเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างเดียวหรือ ? พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าไม่ใช่ ท่านบอกว่าไม่ว่าศาสดาใดก็ตาม ถ้าสอนในอริยมรรคมีองค์แปด ศาสนานั้นสามารถทำให้คนเป็นพระอริยเจ้าระดับที่ ๑ ถึง ๔ ได้อย่างที่พระองค์ท่านตรัสมา
*****
ในเมื่อพระธรรมวินัยนี้ยังสมบูรณ์บริบูรณ์ มรรคแปดที่ย่อเหลือศีล สมาธิ ปัญญา ยังครบถ้วนสมบูรณ์ ก็อยู่ที่เราจะทุ่มเทความพยายาม เราจะทุ่มเทสักเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง ไม่มีใครที่สามารถช่วยเราได้
ดังนั้น..พวกเราโดยเฉพาะกล่าวว่าเป็นนักปฏิบัติ เป็นพระโยคาวจร
ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาสก็ตาม ต้องทุ่มเทให้กับการปฏิบัติชนิดที่เรียกว่าเอาชีวิตเข้าแลก ถึงแม้จะตายไปก็ยอม
ถ้าสามารถทำกำลังใจตัดเป็นตัดตายแบบนี้ได้ คำว่ามรรคผลจะไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะว่าสิ่งที่เรารักเราห่วงใยที่สุดก็คือร่างกายนี้ ถ้าแม้กระทั่งร่างกายนี้จะตายลงไปเราก็ยอม เรื่องของมรรคผลนี่จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากแล้ว
เมื่อเราเกิดมาในภพภูมิที่เหมาะสม อยู่ในช่วงอายุขัยที่เหมาะสม อยู่ในช่วงที่ธรรมะของพระพุทธเจ้ายังสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจ ไขว่คว้าหาธรรมะใส่ตัวของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อให้ก้าวไปสู่ภพภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ ถ้าสามารถหลุดพ้นเข้านิพพานไปเลยก็ยิ่งดี
นี่คือส่วนที่จะฝากไว้สำหรับวันนี้ของเรา เพราะว่าเรื่องของการปฏิบัติที่นี่ จะไม่มีการมาจ้ำจี้จ้ำไชเคี่ยวเข็ญกัน อยู่ที่สามัญสำนึกของเรากันเองว่า เราต้องการจะทำสักเท่าไร เราจะสามารถหนีพ้นกิเลสได้เท่าไร จะสามารถหลีกเลี่ยงอบายภูมิได้หรือไม่ จะสามารถหลุดพ้นได้หรือไม่ อยู่ที่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างได้ ไม่มีใครทำแทนกันได้...
------------------------------------
หมายเหตุ :
**** อรรถกถา : ขุททกนิกาย : ธรรมบท : พุทธวรรคที่ ๑๔ : เรื่อง นาคราชชื่อเอรกปัตตะ
***** พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ : พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ : ทีฆนิกาย : มหาวรรค : มหาปรินิพพานสูตร