อบรมที่เกาะพระฤๅษี วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๐
ในเรื่องของภพภูมิต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด อรรถกถาจารย์ท่านแยกออกเป็น ๓ ส่วน
๓๑ ภูมิ * ด้วยกัน แล้วก็มีพิเศษอีก ๑ ก็คือ
พระนิพพาน
๓๑ ภูมินั้นมี
นรก ๑
เปรต ๑
อสุรกาย ๑
สัตว์เดรัจฉาน ๑
มนุษย์ ๑ บวกกับ
เทวดา ๖ ชั้น เป็น ๑๑
รูปพรหม ๑๖ ชั้นกับ
อรูปพรหมอีก ๔ ชั้น รวมแล้วทั้งหมด ๓๑ โดยมีพระนิพพานที่เป็นเขตพิเศษต่างออกไป ไม่ได้จัดอยู่ใน ๓๑ ภูมินี้
ท่านยังแบ่งละเอียดอีกว่าเป็น
ปุริมสงสารคือ ขั้นสูง
มัชฌิมสงสารคือ ขั้นกลาง
เหฏฐิมสงสารคือ ขั้นต่ำ อันนั้นไม่ขอกล่าวถึง ที่จะกล่าวถึงก็คือว่า
ในส่วนของอบายภูมิ อันได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย นั้น โอกาสที่จะเข้าถึงธรรมไม่มีเลย สัตว์เดรัจฉานก็เข้าถึงธรรมไม่ได้...
แต่ว่าถ้าหากว่าในส่วนของการทำความดีนั้น ถ้าหากเป็นเปรตจำพวกที่เรียกว่า
ปรทัตตูปชีวีเปรต เป็น
อสุรกาย ๔ จำพวก เป็น
สัตว์เดรัจฉาน ทั้งหลายเหล่านี้สามารถที่จะ
อนุโมทนาในส่วนกุศลของเขาได้ก็มี สามารถที่จะ
สร้างบุญสร้างกุศลเองได้ก็มี
ตัวอย่างสัตว์เดรัจฉานที่สร้างกุศลเอาไว้ แล้วสามารถที่จะไปสู่สุคติได้ ก็อย่าง
มัณฑุกเทพบุตร เป็นกบ ฟังธรรม ตายแล้วก็ไปอยู่บนสวรรค์
มักกะโฎเทพบุตร เป็นลิงที่เอารวงผึ้งไปถวายพระพุทธเจ้า ตายแล้วก็ไปอยู่บนสวรรค์
เอราวัณเทพบุตร เป็นช้างที่พระอินทร์สมัยเป็น
มฆมาณพท่านใช้ลากซุงเพื่อสร้างสาธารณสถานสงเคราะห์คนอื่นเขา ตายแล้วก็ไปอยู่ข้างบน
ในเรื่องของสัตว์เดรัจฉานนั้น โอกาสที่จะก้าวขึ้นไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้นนั้นถือว่ามีมาก เพราะว่าอย่างแย่ของเขาก็คือเกิดเหมือนเดิม แปลว่า ถ้าจิตยังยึดเกาะมาก ก็ยังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเหมือนเดิม
อย่าง
หลวงปู่ชอบ วัดป่าสัมมานุสรณ์ ท่านไปบิณฑบาต มีไก่ตัวเมียตัวหนึ่ง วิ่งไล่ตาม จิกจีวรดึงอยู่นั่นแหละ ไม่ยอมให้ท่านไป ท่านกำหนดจิตดู ปรากฏว่า
ไก่ตัวนั้นเคยเกิดเป็นคู่ของท่านมา ท่านบอกว่า
ท่านเคยเกิดเป็นไก่ถึง ๗ ชาติด้วยกัน แล้วไก่ตัวนี้เกิดเป็นคู่ท่านทุกชาติเลย เขายังจำท่านได้ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นพระแล้ว
มีคนเขาถามหลวงปู่ว่า แล้วตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ? หลวงปู่ท่านตอบแบบเขิน ๆ ว่า ตอนนั้นก็เห็นว่าเขาสวยเหมือนกัน แปลว่าในสัตว์เดรัจฉานนั้น โอกาสอย่างที่แย่ ๆ ก็คือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานเหมือนเดิม
ถ้าใจของเขาได้เกาะคนจะเกิดเป็นคน ถ้าใจของเขาเกาะพระจะเกิดเป็นเทวดา สัตว์เดรัจฉานนั้นมีตัวอย่างน้อยรายมาก ที่จะลงสู่อบายภูมิที่ต่ำกว่าเดิม อย่าง
กากเปรต อหิเปรต** เหล่านี้เป็นงูเป็นกาที่ไปเกิดเป็นเปรต
หมายเหตุ :
* อภิธมฺมตฺถสงฺคห : ที.ปา.๑๑/๒๒๘/๒๒๘ : ที.ปา.๑๑/๒๓๕/๒๓๕ : ม.มู. ๑๒/๔๙๘/๕๓๙ : สํ.สฬ.๑๘/๕๑๙/๓๒๖
** อรรถกถา : ขุททกนิกาย : ธรรมบท : พาลวรรคที่ ๑๒ : เรื่อง อหิเปรต