แล้วกล่าวถึง..วิธีการ ว่าทำอย่างไรจะให้เข้าถึงอย่างนั้นได้ ก็ประกอบไปด้วย..
"อนูปวาโท" ไม่ว่าร้ายใคร ก็คือไม่นินทา ไม่ว่าร้ายผู้อื่น
"อนูปฆาโต" ไม่ทำร้ายใคร ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายคน ทำร้ายสัตว์ ให้ลำบากโดยเจตนา ตลอดถึงเข่นฆ่าชีวิตเขา เราก็งดเว้น
"ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร" ให้สํารวมในปาฏิโมกข์ คือศีลตามเพศภาวะของตน อย่างเช่นว่าถ้าเป็นฆราวาสก็รักษาศีล ๕ เป็นอุบาสก-อุบาสิกาก็รักษาศีล ๘ ถ้าหากว่าเป็นสามเณรรักษาศีล ๑๐ เป็นพระภิกษุสงฆ์รักษาศีล ๒๒๗ เป็นต้น
ในเมื่อเรารักษาศีลของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว พระองค์ท่านยังแนะนําว่า "มตฺตญฺญุตา จภตฺตสฺมึ" ก็คือรู้ประมาณในการบริโภค เอาแค่สามารถที่จะทรงสังขารนี้อยู่เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่กินล้นกินเกินจนกลายเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและโรคภัยต่าง ๆ เข้ามารุมเร้า
ต่อไปคือ "ปนฺตญฺจ สยนาสนํ" พระองค์ท่านแนะนําให้เราในเบื้องต้นปลีกตัวออกจากหมู่ รู้จักอยู่อาศัยในที่สงัด จะได้ไม่เกิดการรบกวนจนกําลังใจของเราเสียหาย จนกระทั่งมั่นคงดีเต็มที่แล้ว จึงออกมาชนกับกิเลสต่าง ๆ ได้โดยที่กําลังใจของเรามั่นคงทรงตัวอยู่ได้
และท้ายที่สุด "อธิจิตฺเต จ อาโยโค" หมั่นประกอบในการทำจิตให้สะอาด ก็คือหมั่นที่จะทรงสมาธิสมาบัติเอาไว้ ทำให้ รัก โลภ โกรธ หลง กินใจของเราไม่ได้ แล้วท้ายที่สุดเมื่อเราเห็นทุกข์เห็นโทษ แล้วก็ค่อย ๆ ถอนจากการยึดการเกาะออกมา อันดับแรกก็ลดการกระทำที่ไม่ดีไม่งามทางกาย ทางวาจา และทางใจลงไป แล้วหลังจากนั้นก็ละถอย หนีห่างจากการกระทำเหล่านั้น ด้วยการงดเว้นอย่างเด็ดขาด ก็กลายเป็นการเลิกทำในสิ่งที่ชั่ว กระทำแต่ในสิ่งที่ดี
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 28-02-2024 เมื่อ 13:00
|