วิปัสสนาญาณนี้มีเป็นจำนวนมากต่อมากด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาตามแนวอริยสัจ ๔ ก็ดี ตามปฏิจจสมุปบาทก็ตาม หรือว่าพิจารณาในขันธ์ ๕ คือร่างกายนี้ อายตนะ ๑๒ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บวกกับส่วนที่ออกไปสัมผัส คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ หรือว่าธาตุ ๑๘
ลงไปจนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ตั้งแต่การพิจารณาเห็นการเกิดและดับเป็นปกติ หรือว่าเห็นการดับสิ้นทั้งปวง เห็นความเป็นทุกข์เป็นภัย เห็นเป็นของน่ากลัวในอัตภาพร่างกายนี้ เป็นต้น เมื่อเรายกเอาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ขึ้นมาพินิจพิจารณา ถ้าหากว่าปัญญาเพียงพอ กำลังสมาธิของเราถึง ก็สามารถที่จะตัดขาดได้ตามนั้น
ดังนั้น..เราท่านทั้งหลายจะเห็นว่า ในเรื่องของสมถภาวนา คือการปฏิบัติให้เกิดกำลังสมาธิ และเรื่องของวิปัสสนาภาวนา คือการพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะทิ้งขาดจากกันได้
เพราะว่าในส่วนของสมถภาวนานั้นเป็นการสร้างกำลังให้เกิด วิปัสสนาภาวนานั้น เหมือนอาวุธที่มีความคมกล้า เมื่อเรามีกำลัง สามารถยกอาวุธนั้นขึ้นมาตัดฟันสิ่งใดก็ได้ แต่ถ้าหากว่ากำลังไม่พอ มีอาวุธอยู่ ก็ไม่สามารถที่จะยกขึ้นมาตัดฟันอะไรได้ หรือว่ามีแต่อาวุธ ขาดกำลังที่จะยกขึ้นมาใช้งาน ก็ทำอะไรไม่ได้เช่นกัน
สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาจึงเปรียบเสมือนบุคคลที่ผูกขาติดกันอยู่ เมื่อเราก้าวเท้าข้างหนึ่งไปข้างหน้า ก้าวจนสุดแล้ว ไม่สามารถที่จะก้าวต่อได้ เราต้องก้าวเท้าอีกข้างหนึ่งตามไป จึงสามารถที่จะได้ระยะทางเพิ่มขึ้น
ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมาแยกการปฏิบัติ เอาแต่สมถภาวนาอย่างเดียว เมื่อกำลังใจของเราทรงสมาธิเต็มที่ที่เราทำได้แล้ว หลายท่านจะรู้สึกชัดเจนว่าเหมือนเดินไปถึงทางตัน แล้วไปต่อไม่ได้ เมื่อถึงในระดับนั้น ก็ขอให้ทุกท่านรีบยกเอาวิปัสสนาภาวนาขึ้นมาพินิจพิจารณา
ส่วนที่ง่ายที่สุดก็คือ มองให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ และท้ายที่สุดไม่มีอะไรให้เรายึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ ถ้าหากว่าสภาพจิตยอมรับ กำลังสมาธิเพียงพอ เราจะสามารถตัดกิเลสได้ตามลำดับกำลังของเราที่เข้าถึงได้
แต่ถ้าพินิจพิจารณาไปแล้ว กำลังทุกอย่างยังไม่เพียงพอ สมาธิของท่านที่ทรงอยู่ได้ใช้จนหมดไป การพิจารณานั้นก็จะเลือนลางจืดจางลงไป เราต้องรีบกลับมาหาการภาวนาใหม่ จะเป็น "พองหนอ ยุบหนอ" ก็ได้ เป็น "พุทโธ" ก็ได้ เป็น "สัมมา อะระหัง" ก็ได้ หรือคำภาวนาอื่นใดที่ท่านทั้งหลายชอบใจก็ได้ จนกำลังสมาธิของเรามั่นคงแล้ว ค่อยยกเอาวิปัสสนาญาณขึ้นมาพิจารณาใหม่ ก็คือต้องสลับกันไปสลับกันมาแบบนี้ ถึงจะมีความเจริญก้าวหน้า
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 12-01-2024 เมื่อ 03:09
|