ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 09-01-2024, 00:00
เถรี's Avatar
เถรี เถรี is offline
ผู้ดูแลเว็บ - ยืนยันตัวตนแล้ว
 
วันที่สมัคร: Jan 2009
ข้อความ: 30,700
ได้ให้อนุโมทนา: 152,038
ได้รับอนุโมทนา 4,418,256 ครั้ง ใน 34,290 โพสต์
เถรี is on a distinguished road
Default

แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ยังจัดเป็นโลกิยฌานเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพิจารณาแล้วว่าไม่ใช่ทางหลุดพ้น แต่เป็นการหนีกิเลสแค่ชั่วคราว จึงได้พินิจพิจารณาดู จนกระทั่งเห็นวงจรการเกิดการดับของ กิเลส กรรม วิบาก ก็คือ ตราบใดที่ยังมีกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง อยู่ สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำ ก็จะโดนชักนำด้วยอำนาจของกิเลส เรียกว่ากรรม เมื่อกระทำกรรมไปแล้ว ก็ย่อมมีผลตอบสนองมา คือวิบาก เราจะต้องการหรือไม่ต้องการ เมื่อทำแล้ว ย่อมได้รับผลตอบแทน ถ้าหากว่าภาษาของฟิสิกส์ เขาว่าเมื่อมีกิริยา ก็ต้องมีปฏิกิริยา

คราวนี้ในเมื่อเราเอง ถ้าหากว่ากระทำกรรม ผลของกรรมหรือวิบาก ก็ส่งผลให้เราเกิดแล้วเกิดอีกไม่รู้จบ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สืบสาวไปจนถึงต้นเหตุ ก็คืออวิชชา ความไม่รู้ หรือว่ารู้ไม่ทั่ว จึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร คือความนึกคิดปรุงแต่งขึ้นมา ในเมื่อมีความนึกคิดปรุงแต่งขึ้นมา ก็เกิดวิญญาณ คือความรู้สึก ในเมื่อมีความรู้สึก สิ่งที่เราจะรู้สึกได้ก็ต้องมีสิ่งอาศัย ก็คือนามรูป คือร่างกายนี้เอง

ในเมื่อมีร่างกายนี้ขึ้นมา ก็ต้องมีอายตนะ คือเครื่องรับสัมผัสทั้ง ๖ อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมีอายตนะก็มีสัมผัส ก็คือตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิด ชอบก็เป็นราคะ ไม่ชอบก็เป็นโทสะ ก่อให้เกิดกิเลสทั้งคู่ เมื่อมีสัมผัสขึ้นมา ก็มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ หรือว่าไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา ในเมื่อมีความรู้สึกขึ้นมา เราก็จะหลีกในส่วนที่ไม่ชอบใจ ไปรับเอาสิ่งที่ชอบใจ สิ่งนั้นก็คือตัณหา คือความอยากก็เกิดขึ้น

แต่คราวนี้ตัณหานั้นมีทั้ง ภวตัณหา อยากตรง ๆ และวิภวตัณหา อยากในสิ่งที่ตรงกันข้าม อย่างเช่นว่า
ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย แต่ว่าความจริงก็คืออยากจะไม่แก่ อยากจะไม่เจ็บ อยากจะไม่ตาย ขึ้นด้วยคำว่าไม่อยาก แต่เป็นความอยากเต็มที่เลย เขาถึงได้เรียกว่าวิภวะ ก็คือสภาพที่ตรงกันข้ามกับภวะ

ในเมื่อมีตัณหาคือความอยากเกิดขึ้น ก็จะเกิดความยึดมั่นถือมั่น ที่เรียกว่าอุปาทาน ก็คือ กูชอบอันนี้ กูต้องการแบบนี้ กูไม่ชอบแบบนี้ กูผลักไสสิ่งนี้ เมื่อมีอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น ก็ต้องมีสิ่งให้ยึด ต้องมีสิ่งให้เกาะ เขาเรียกว่าภวะ หรือภพ ก็คือที่เกิด

ในเมื่อมีที่เกิดก็ต้องเกิด ก็คือ ภะวะ ปัจจะยาชาติ ภพเป็นปัจจัยให้เกิด คราวนี้ก็ลากยาวเป็นหางรถไฟไปเลย ก็คือ แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ โศก ร่ำไร กระทบกระทั่งสิ่งที่ไม่ชอบใจ ได้รับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ปรารถนาไม่สมหวัง สารพัดความทุกข์ประเดประดังเข้ามา
__________________
........................

เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง

จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 09-01-2024 เมื่อ 02:38
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
สมาชิก 37 คน ได้กล่าว "อนุโมทนา" กับคุณ เถรี ในข้อความที่เขียนด้านบน
แสดง/ซ่อน รายชื่อผู้อนุโมทนา