๑๐.๑๕ สิ่งที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ มีแต่บุญกุศลเท่านั้น ธรรมข้อนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ทรงยกตัวอย่างว่า เช่นการให้ทานและรักษาศีลเป็นต้น ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า
- ทาน เป็นตัวตัดความโลภ
- ศีล เป็นตัวตัดความโกรธ
- ภาวนา เป็นตัวตัดความหลง
ศีล เพียรรักษาศีล จนกระทั่งศีลรักษาใจเรา ไม่ให้ทำผิดศีลอีก เป็นสีลานุสติหรือเป็นอธิศีล ซึ่งกันตกนรกได้ตลอดกาล
สมาธิ เพียรรักษาสมาธิ หรือทำจิตให้เป็นสมาธิ จนกระทั่งสมาธิรักษาเรา (จิต) ให้เป็นผู้ทรงฌานหรือทรงสมาธิได้เป็นอัตโนมัติตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือเป็นอธิจิต มีผลทำให้อารมณ์ชั่ว ๒ อย่างไม่สามารถเกิดได้คือ โลภะ (ราคะ) กับปฏิฆะ (โทสะ) ซึ่งกันไม่ให้จิตดวงนี้ลงมาเกิดมีร่างกายหรือขันธ์ ๕ อีกตลอดกาล (ไม่เกิดในมนุษยโลก)
ปัญญา เกิดจากการใคร่ครวญ พิจารณาหรือธัมมวิจยะ ยกเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์มาใคร่ครวญ เรียกว่า วิปัสสนา จนกระทั่งพบเห็นอริยสัจคือ
ก) เห็นทุกข์ได้ตามความเป็นจริง คือทุกขสัจ เป็นทุกข์ของกายซึ่งไม่มีใครสามารถห้ามได้ ให้เห็นเป็นเพียงสภาวธรรม ให้ใจเรากำหนดรู้ว่า มันก็ทุกข์ของมันเป็นธรรมดาอย่างนี้แหละ จงอย่าไปยุ่งกับมัน เพราะร่างกายหรือทุกข์ของกาย เวทนาของกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
ข) เห็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สมุทัย) ใจเป็นต้นเหตุ เพราะมีอุปาทานซึ่งเป็นอารมณ์ยึดมั่นถือมั่น คิดว่าขันธ์ ๕ หรือร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา จึงเป็นอารมณ์ฝืนความจริง ที่ไม่ยอมรับว่าทุกข์ของกายหรือเวทนาของกาย มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ยิ่งฝืนก็ยิ่งทุกข์ ดังนั้น..หากใครวางหรือละอุปาทานขันธ์ ๕ ได้อย่างเดียว ก็พ้นทุกข์ตลอดกาล หรือจบกิจในพระพุทธศาสนา (ผมขออธิบายสั้น ๆ แค่นี้)
ค) เห็นความพ้นทุกข์ หรือเห็นความดับทุกข์คือนิโรธ ตามข้อ ข
ง) เห็นวิธีปฏิบัติให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ คือ อริยมรรค ๘ ขอย่อสั้นๆว่า คือ ศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือทาน-ศีล-ภาวนา (ขออธิบายสั้น ๆ แค่นี้)
“พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ต่างก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจทั้งสิ้น และพระสาวกของพระองค์ทุก ๆ องค์ ต่างก็บรรลุด้วยอริยสัจ มีทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี” นี่คือพระพุทธพจน์
ดังนั้นหากผู้ใดต้องการไปพระนิพพาน ก็ต้องใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา (ความทุกข์) ทั้งทางโลกและทางธรรม จึงจะพ้นทุกข์ได้