ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนั้น เราจะไม่มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเลย เพราะคิดว่าที่ตัวเองทำอยู่นั้นดีแล้ว ถูกแล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเหมือนกับการขึ้นบันได ก้าวขึ้นไปเป็นขั้น ๆ พอกำลังของเราสะสมเพียงพอ ศีล สมาธิ ปัญญา ทรงตัว มีการทะลุทะลวงผ่านระดับที่เราอยู่ขึ้นไป เมื่อมองย้อนกลับมาก็จะเห็นว่า อ้าว...ที่ผ่านมายังไม่ดีจริงนี่หว่า..!? ยังมีที่ดีกว่านั้น ที่ถูกกว่านั้น แต่ก็จะมายึดไอ้จุดที่ตัวเองเพิ่งจะก้าวไปถึง ว่าตรงนี้ดีแล้วถูกแล้วอีก
ดังนั้น...ตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน คนเราอดไม่ได้ที่จะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ต่อให้ปฏิบัติถูกต้องก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าแบกสังโยชน์ใหญ่เอาไว้ ก็คือสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูของกู แล้วก็มานะ ความถือตัวถือตน
ส่วนใหญ่ก็ถือว่าดีกว่า พอไปเจอคนเก่งเข้า รายนี้เก่งเท่ากับเรา ก็ถือตัวว่าเสมอกัน พอไปเจอบุคคลที่ปฏิบัติได้น้อยกว่า ก็..ไอ้นั่นสู้กูไม่ได้ สรุปแล้วเป็นมานะทั้งหมดเลย ดีกว่าก็ไม่ได้ เสมอกันก็ไม่ได้ ต่ำกว่าก็ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ลำบากสำหรับนักปฏิบัติธรรม แต่ว่าก็ไม่เกินความสามารถ
เพราะว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถ้าตั้งหน้าตั้งตาทำจริง ๆ ด้วยความอดทนอดกลั้น เดี๋ยวบรรดานาคทั้งหลายก็จะรู้ว่านรกมีจริง เพราะว่าพวกท่านทั้งหลาย ถึงเวลาอยากจะทำอะไรก็ทำได้ เพราะชีวิตฆราวาสข้อห้ามมีน้อย แค่เราไม่ละเมิดศีล ๕ ก็พอแล้ว แต่พอเป็นพระขึ้นมา ในส่วนที่เราอยากทำ ส่วนใหญ่แล้วจะทำไม่ได้ เพราะว่าโดนตีกรอบ
กระผม/อาตมภาพเคยเปรียบเทียบเอาไว้ว่า ชีวิตฆราวาสเหมือนเอาเราไปปล่อยไว้ในป่ากับเสือตัวหนึ่ง บางทีเดินทั้งปีก็ไม่เจอเสือตัวนั้นหรอก แต่ในชีวิตของความเป็นพระเป็นเณร เขาเอาเสือตัวนั้นยัดไว้ในกรงกับเรา กรงนั่นก็คือศีล ๒๒๗ ของพระ ศีล ๑๐ ของเณร
อะไรที่เคยทำได้ ทำไม่ได้ทั้งหมด จะอกแตกตาย เพราะกิเลสฟัดเราอยู่ทุกวัน ถึงตอนนั้น สติ สมาธิ ปัญญามีเท่าไร ต้องทุ่มเทเพื่อต่อต้านอำนาจกิเลส เพื่อที่เราจะต้องอยู่ให้ได้ครบพรรษาตามที่ต้องการ
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 04-07-2022 เมื่อ 02:57
|