คราวนี้ก็จะเหลืออนุสติส่วนที่เหลืออีก ๔ กอง จากฉอนุสตินิเทส ก็จะเป็นอนุสติกัมมัฏฐานนิเทสที่เหลืออีก ๔ อย่าง มีมรณานุสติ เป็นต้น แล้วหลังจากนั้นจะเป็นของยากครับ
สำหรับกระผม/อาตมภาพในตอนที่ปฏิบัติอยู่ก็คือ พรหมวิหารนิเทส พรหมวิหาร ๔ ครับ ตรงนี้เป็นกรรมฐาน ๔ ข้อ ๔ กองที่ไม่เหมือนกันเลย แต่จัดอยู่ด้วยกันได้ ก็คือตั้งแต่เมตตาพรหมวิหาร รักคนอื่นเสมอตัวเรา กรุณาพรหมวิหาร สงสารอยากให้คนอื่นพ้นทุกข์ มุทิตาพรหมวิหาร พลอยยินดีเมื่อเห็นคนอื่นอยู่ดีมีสุข ไม่มีอิจฉาริษยาเลยครับ
ตอนสมัยที่กระผม/อาตมภาพฝึกอยู่ เดินบิณฑบาต เสียงรถยนต์วิ่งมา เออหนอ...เขาทำบุญมาดีนะ เขาถึงได้มีรถดี ๆ ขี่ กำลังใจไม่ได้อิจฉาริษยาไม่พอครับ ยังพลอยยินดีไปด้วย แล้วท้ายที่สุดก็คืออุเบกขาพรหมวิหาร ตรงจุดนี้เป็นสุดยอดที่พระพุทธเจ้าท่านให้ไว้ครับ สำหรับคนบางคนที่เมตตาเกินประมาณ
ถามว่าเมตตาเกินประมาณตรงไหนครับ ? ช่วยเขาไม่ได้แล้วเครียดเองครับ แล้วในที่สุดก็กลายเป็นโรคซึมเศร้าไปเลยก็มี ดังนั้น...ถ้าหากว่าเราช่วยคนอื่นเขาเต็มที่แล้ว ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา กำลังคน กำลังทรัพย์ แล้วยังช่วยไม่ได้ ต้องยอมรับบ้างว่ากรรมเขาหนักเกินไป เราก็ต้องปล่อยวางครับ ปล่อยวางโดยที่พร้อมจะช่วยเหลืออีกถ้ามีโอกาส ไม่ใช่ไปแบกเอาไว้เหมือนอย่างกับว่าเป็นตัวของเราเอง แล้วจะต้องช่วยให้ได้
ดังนั้น...ในเรื่องของอุเบกขาพรหมวิหาร กระผม/อาตมภาพถึงได้ใช้คำสรุปสั้น ๆ ว่า พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อกันไม่ให้เราบ้าครับ..! และโดยเฉพาะกรรมฐานทุกกอง ถ้าไม่มีอุเบกขา ไม่สามารถที่จะเข้าถึงที่สุดของกรรมฐานกองนั้น ๆ ได้ครับ เพราะว่ากรรมฐานทุกกอง ท้ายสุดจะมีคำว่าเอกัคตารมณ์ อารมณ์ที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว อารมณ์ที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวนั้น ประกอบไปด้วยอุเบกขาครับ ถ้าไม่มีอุเบกขา จะตั้งมั่นอยู่ไม่ได้ครับ
เมื่อพ้นจากตรงนี้ไปแล้วก็ยังมีของโคตรยากรอเราอยู่อีก ก็คืออารุปปนิเทส เป็นอรูปฌาน ๔ อย่าง ตั้งแต่อากาสานัญจายตนฌาน เป็นการละทิ้งรูปในกสิณไปยึดความว่างของอากาศเป็นอารมณ์ กำหนดใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากความว่างเปล่าทั้งสิ้น ภาวนาว่า "อากาโส อนันโต...อากาโส อนันโต" ทรงกำลังสมาธิเต็มที่ถึงฌาน ๔ เมื่อไร ท่านจะสำเร็จในอากาสานัญจายตนฌาน
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-12-2021 เมื่อ 03:53
|