ดังนั้น...เรื่องของบุพกิจอะไรต่าง ๆ บางทีเราไปดูไปย้อนทวนจะพบว่า คนโบราณนั้นกำลังใจละเอียดมาก ในเมื่อกำลังใจละเอียดมาก สิ่งต่าง ๆ ที่จะเป็นข้าศึกของพรหมจรรย์ คือเป็นข้าศึกของการปฏิบัติธรรม ท่านจะไม่เอาเลย พยายามหลีกเลี่ยง ที่เรียกว่าปลีกวิเวก หลีกออกจากหมู่ พยายามที่จะไม่ไปคลุกคลีกับหมู่คณะ
วัดวาอารามที่อยู่แนวชายแดนไม่เอา ถามว่าทำไม ? สมัยก่อนมีการรบทัพจับศึกกันเป็นปกติครับ เขารุกล้ำเข้ามายึดชายแดนเมื่อไร คุณก็เสร็จสิครับ..! โดนกวาดต้อนไปเป็นเชลย เอาเวลาที่ไหนมาปฏิบัติธรรมครับ ? เพราะฉะนั้น...แต่ละอย่างที่เขาบอกมาว่า ๒๐ - ๓๐ อย่าง ว่าวัดไหนที่ไม่ควร แล้วสถานที่ไหนที่ควร แค่นี้ก็แย่แล้วครับ
แม้กระทั่งในเรื่องของการปฏิบัติกรรมฐานแต่ละข้อต้องทำอย่างไรบ้าง ทั้งอนุสติ ๑๐ กสิณ ๑๐ อสุภกรรมฐาน ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูปฌาน ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ แต่ละอย่างต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าหากว่าอ่านครบ ดีไม่ดีก็บรรลุไปเลยครับ..! ก็คือเบื่อเต็มทีแล้ว เมื่อไรจะจบเสียที บางทีอ่าน ๆ ไปตั้งครึ่งต้องค่อน ลืมไปแล้วว่าหัวข้อหลักคืออะไร หัวข้อตรงนี้ก็คือกัมมัฏฐานคหณนิเทสครับ
หัวข้อถัดไป เขาเรียกว่าปฐวีกสิณนิเทส บอกกล่าวถึงในส่วนของการเจริญกสิณ โดยเฉพาะกสิณดิน ว่ามีอานุภาพอย่างไรบ้างในส่วนนี้ บอกกล่าวละเอียดที่สุด เพราะว่ากสิณอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่คล้ายคลึงกัน เปลี่ยนแต่วัสดุในการฝึกฝนปฏิบัติเท่านั้น
เพราะฉะนั้น...ปริจเฉทนี้จะบอกรายละเอียดมากที่สุด บอกในลักษณะของท่านที่เรียนบาลีก็คือ การทำตัวครับ อย่างเช่นบอกว่า "ไหน..ลองแจกปุริโส โดยการทำตัวมาให้ดูหน่อย ?" ท่านที่เรียนบาลีมาก็ต้องเริ่มต้นเลย ปุริโส มาจากศัพท์เดิมว่า ปุริสะ อันว่าบุรุษ เติม สิ ปฐมาวิภัตติในเอกวจนะ แปลงอะกับสิเป็นโอ สำเร็จรูปเป็นปุริโส ปุริโส แปลว่า อันว่าบุรุษ อันอื่น ๆ เราก็ใช้วิธีเดียวกัน เพียงแต่แปลงศัพท์ เปลี่ยนศัพท์ไปเท่านั้นเอง
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 08-12-2021 เมื่อ 03:47
|