หลักคำสอนที่ ๗ : บุคคลที่ปรารถนาพ้นทุกข์ได้สุขหรือพระนิพพาน ควรให้ได้เมื่อยังมีชีวิตอยู่
ดูกรอานนท์ พระนิพพานนั้นมี ๒ ประเภท คือ สุกหนึ่งดิบหนึ่ง
นิพพานดิบ หมายถึง บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ เจริญศีล สมาธิ ปัญญา จนพบสุขในพระนิพพานแล้ว หรือจบกิจที่จะต้องตัดกิเลสทุกชนิดแล้ว แต่ยังมีร่างกายอยู่หรือยังไม่ตาย
นิพพานสุก หมายถึง บุคคลที่จบกิจในพระพุทธศาสนาแล้วด้วยศีล สมาธิ ปัญญา และร่างกายตายหรือพังด้วย จิตเป็นอิสระก็ไปเสวยสุขที่แดนพระนิพพาน
ทรงอธิบายว่า นิพพานดิบนั้น จิตเป็นสุขก็จริงอยู่ แต่ไม่ละเอียดปราณีตเท่ากับนิพพานสุก หรือเทียบกันไม่ได้เลยเพราะ
ก) ตราบใดที่ร่างกายยังอยู่ ยังมีชีวิตอยู่ ทุกข์ของกาย(ทุกขสัจ) ก็ยังคงมีอยู่ คือ นิพัทธทุกข์ ทุกข์ปกติของการมีร่างกาย เช่น ปวดท้องขี้ ปวดท้องเยี่ยว หิว ต้องอาบน้ำชำระสิ่งสกปรกของกาย ต้องทำงานเพื่อหาเงิน หาอาหารมาเลี้ยงดูร่างกายเป็นต้น มีสภาพเหมือนคนติดคุก มีสภาพเหมือนต้องเลี้ยงลูกอ่อนอยู่ตลอดเวลาหรือตลอดชีวิต
ข) ทุกข์จากสัทธรรม ๕ ดังกล่าวแล้วในข้อ ๖
ค) ทุกข์จากกฎของกรรม ที่ตามมาให้ผลกับร่างกายได้ตลอดเวลา กฎของกรรมข้อใดที่เราทำไว้ในอดีตตามมาทัน วิบากกรรมนั้นก็ตามให้ผล เช่น พระโมคคัลลาน์ถูกโจร ๕๐๐ ทุบ จนร่างกายแหลกเหลว พระสารีบุตรก่อนจะเข้าสู่พระนิพพานก็ป่วยหนัก แม้แต่พระพุทธองค์เองก่อนจะเข้าสู่ปรินิพพาน ก็ยังถูกกฎของกรรมตามมาเล่นงาน เป็นต้น
|