ปะชุนผ้า ใช้ผ้าบังสุกุล
“...ธุดงค์ข้อถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรเป็นการตัดทอนกิเลส.. ตัวทะเยอทะยาน ชอบสวยชอบงามได้ดี กิเลสชนิดนี้เป็นที่น่าเบื่อหน่ายในวงนักปราชญ์ทั้งหลาย แต่เป็นที่กระหยิ่มลืมตัวของพาลชนทั้งหลาย พระธุดงค์ที่ต้องการความสวยงามภายใน.. เที่ยวเสาะแสวงหาผ้าบังสุกุลที่เขาทอดทิ้งไว้ตามป่าช้า หรือที่กองขยะของเศษเดนทั้งหลาย มาซักฟอกแล้วเย็บปะติดปะต่อเป็น สบง จีวร สังฆาฏิ ใช้สอยพอปกปิดกาย และบำเพ็ญสมณธรรมไปตามสมณวิสัยอย่างหายกังวล ไม่คิดเป็นอารมณ์ห่วงใยผูกพันกับใครและสิ่งใด...
การนุ่มห่มใช้สอยบริขารต่าง ๆ ของพระธุดงค์ เฉพาะท่านอาจารย์มั่น รู้สึกว่าท่านพิถีพิถันและมัธยัสถ์เป็นอย่างยิ่ง ไม่ยอมสุรุ่ยสุร่ายเป็นอันขาดตลอดมา ปัจจัยเครื่องอาศัยต่าง ๆ มีมากเพียงไรก็มิได้ใช้แบบฟุ่มเฟือยเห่อเหิมไป ... ผ้าสังฆาฏิ จีวร สบง ผ้าอาบน้ำ ขาด ๆ วิ่น ๆ มองเห็นแต่รอยปะติดปะต่อ ปะ ๆ ชุน ๆ เต็มไปทั้งผืน ... การปะการชุนหรือดัดแปลงซ่อมแซมไปตามกรณีนั้น ก็เพราะเห็นคุณค่าแห่งธรรมเหล่านี้มาประจำนิสัย .. ไม่ว่าผืนใดขาด ในบรรดาผ้า.. ผ้าครองหรือผ้าบริขารที่ท่านนุ่งห่มใช้สอย ผืนนั้นต้องถูกปะถูกชุนจนคนทั่วไปดูไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นใครทำกันในเมืองไทย ที่เป็นเมืองสมบูรณ์เหลือเฟือจนทำให้คนลืมตน มีนิสัยฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยแม้เป็นคนจน ๆ ท่านเองไม่เคยสนใจว่าใครจะตำหนิติชม...”
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 16-09-2020 เมื่อ 21:54
|