อุปสรรคประการเดียวที่สามเณรน้อยประสบในคืนแรกนั้นคือ "ถีนมิทธะ" ความง่วงเหงาหาวนอน และ "อุทธัจจะกุกกุจจะ" ความฟุ้งซ่านในอารมณ์ เพราะตอนอยู่ในวัดมีเพื่อนข้างกุฏิพอทักกันให้คลายเหงาหายง่วง
ซึ่งทั้งสองประการนั้นเป็นสิ่งกีดกั้นความดีมิให้บังเกิดขึ้น เรียกว่า "นิวรณ์" คอยรบกวนจิตไม่ให้รวมตัวถึงซึ่งความสงบได้
หนทางแก้ความง่วงเหงาหาวนอนคือลุกเดินจงกรม แล้วย้อนกลับลงนั่งหลับไปงีบหนึ่งก็พอดีสว่าง ตลอดคืนไม่มีสัตว์ร้ายใด ๆ มาแผ้วพาน
ก่อนออกไปเที่ยวบิณฑบาตได้อาบน้ำในลำห้วยพอสดชื่น ที่หมู่บ้านในป่ามีศรัทธาญาติโยมใส่บาตรได้อาหารตามสมควรพออิ่ม ยังชีพให้ดำรงอยู่ได้ไม่เดือดร้อน หากไม่ยึดติดในรสชาติของอาหารเหล่านั้น
ขณะสามเณรฉันอาหารในบาตรอยู่ที่โคนไม้ใหญ่ สังเกตพบพื้นดินข้างที่นั่งมีรอยบุ๋มลึกลงไป พิจารณาประเดี๋ยวเดียวต้องสะดุ้งใจ เมื่อเห็นถนัดว่าเป็นรอยตีนเสือใหญ่หวิดเท่าชามข้าว จึงลุกขึ้นเดินทอดสายตามองพื้นดินรอบบริเวณ พบรอยตีนเสือเหยียบย่ำไปรอบโคนไม้ใหญ่ เป็นรอยใหม่ ๆ ยังไม่มีเศษผลธุลีลงไปเกลื่อนอยู่ แสดงแน่ชัดว่าตอนสามเณรเดินเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน มีเสือขนาดมหึมาชนิดไม่เคยได้ฟังมาก่อนว่า เสือเมืองไหนมีรอยตีนใหญ่ถึงเพียงนี้ เสือตัวนั้นกำลังกระสากลิ่นมนุษย์
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ชินเชาวน์ : 30-12-2009 เมื่อ 07:32
|