เทศน์สอนเรานี่มันยากนะ เทศน์สอนเรานี่มันเอาจริงเอาจังทุกอย่าง มัดกันทุกแง่ทุกมุมจึงเรียกว่าสอนละซิ เทศน์สอนประชาชนเขาจะเก็บได้หนักเบามากน้อย มันก็เป็นกำลังของเขา แต่เทศน์สอนตัวเองนี้มันเอาจริงเอาจังทุกอย่าง ว่ายังไงต้องอย่างงั้นนะ บังคับเลยนะ เรียกว่าสอนตัวเอง บีบกันตลอดเลย นี่ละมันยากกว่าสอนประชาชนนะ...”
ครั้นเมื่อองค์ท่านสอนตนเอง บังคับตนเองจนเห็นผลเป็นที่พอใจแล้ว ต่อมามีพระเณรเข้ามาเกี่ยวข้องขออยู่ศึกษาด้วย ท่านก็ให้ความใส่ใจที่จะแนะนำสั่งสอนอย่างจริงจัง ดังนี้
“... ผมสอนจริง ๆ สอนหมู่สอนเพื่อน ขอให้เห็นใจ รับไว้แต่ละองค์ ๆ นี้ผมรับไว้จริง ๆ ด้วยเหตุด้วยผล สอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มภูมิความสามารถที่จะสั่งสอนได้ การดูหมู่เพื่อนภายในวัดนี้ซึ่งเป็นเสมือนอวัยวะของผม ผมดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน.. ทุกอย่างเต็มสติกำลังความสามารถของผม ที่อื่น ๆ ผมไม่ได้สนใจ
ผมเคยพูดเสมอ พอออกนอกวัดไปแล้ว ใส่แว่นตาดำไปเลย ไม่สนใจเพราะไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบแล้ว เราไม่ใช่ผู้ที่จะให้โอวาทสั่งสอนใคร ๆ นี่ เป็นเรื่องของเขา สมบัติของใครของเรา.. แต่นี้หมู่เพื่อนน้อมกาย วาจา ใจ เข้ามาเพื่อให้เราเป็นภาระ อาจริโย เม ภันเต โหหิ, อายัสมโต นิสสาย วัจฉามิ นี่ก็รับด้วย โอปายิกัง, ปฏิรูปัง, ปาสาทิเกน สัมปาเทหิ...
ท่านถึงได้ว่า พึ่งตัวเองยังไม่ได้ ต้องอาศัยครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งไปก่อน ๕ พรรษานั้น ท่านพูดไว้พอประมาณ ถ้า ๕ พรรษาล่วงแล้วยังเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องอยู่เพื่อศึกษาอบรมกับท่านผู้ดีกว่าตนต่อไป คิดดูซิ.. พระ ๖๐ พรรษาที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ ก็ยังต้องมาของนิสัยจากผู้ ๑๐ พรรษา.. แต่มีหลักจิตหลักธรรมวินัย ท่านบอกไว้แล้วในพระวินัย เพราะมันไม่สำคัญอยู่กับพรรษา แต่สำคัญที่ความทรงตัวได้หรือไม่ได้ สำคัญตรงนี้ต่างหาก ...”
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 15-08-2020 เมื่อ 14:08
|