หลวงปู่แหวนกับธนบัตร ๕๐๐ บาท
“... พูดถึงเรื่องเงินก็ระลึกถึงหลวงปู่แหวน อย่างนั้นละ..บทเวลาท่านจะทำ ท่านก็รู้ก็ปฏิบัติตามสมมุติอยู่ตลอดมา ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไร ท่านเคารพนับถือฝ่ายสมมุติ ท่านก็เคารพว่าเงินว่าทองไม่ให้จับ ท่านก็ไม่จับเหมือนพระทั้งหลาย บทเวลาท่านจะพลิกล็อกนะ
อยู่ ๆ ก็ฟาด..ไปเอาธนบัตรใบละห้าร้อยมามวนบุหรี่ มวนใหญ่ ๆ เข้าใจไหมล่ะ ท่านสูบบุหรี่มวนใหญ่ หลวงปู่แหวนนั่นละ บทเวลาท่านจะพลิกล็อก มาเอาธนบัตรใบละห้าร้อยมวนบุหรี่สูบ.. ปุ๊บ ๆ ๆ พวกพระเณรก็ตกตะลึงกัน
‘อุ๊ย หลวงปู่ นี่มันธนบัตรใบละห้าร้อย เอามามวนบุหรี่สูบอะไร’
‘หือ’ ท่านว่างั้นนะ
ท่านทำ ท่าอย่างนั้นละ คือจิตของท่านผ่านไปหมด เรื่องสังฆาปาราชิกนี้ไม่มีในหัวใจ พูดตรง ๆ แต่กิริยาก็มีเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ท่านถึงเคารพกิริยา ต้องอาบัตินั้น อาบัตินี้ท่านเคารพ เวลาท่านพลิกปั๊บ อย่างที่หลวงปู่แหวนเอาธนบัตรใบละ ๕๐๐ มามวนบุหรี่ ท่านมวนบุหรี่ตัวใหญ่ ๆ นะ มวนบุหรี่ใส่ปุ๊บ ๆ ๆ
‘โอ๊ย หลวงปู่ทำไมเอาธนบัตรใบละ ๕๐๐ มามวนบุหรี่สูบอย่างนี้ล่ะ’
ท่านก็ว่า ‘หือ’ ทำท่าเหมือนไม่รู้นะ บทเวลาตอบ ‘ประสากระดาษ’ เท่านั้นละ
‘ประสากระดาษ’
ท่านก็สูบเฉยจากนั้นก็ทิ้ง จากนั้นไม่เคยทำอีกนะ ทำทีเดียวพอให้โลกได้รู้บ้าง คือจิตท่านบริสุทธิ์แล้วหมดนะ นี่เราใช้ตามกิริยาของสมมุติ พระเหล่านี้เป็นสมมุติ โลกมีสมมุติ พระเราก็เป็นสมมุติ รักษาสิกขาบทวินัยตามสภาพของสมมุติ เพราะฉะนั้น ท่านจึงรักษาธรรมวินัยเช่นเดียวกันหมด แต่จิตใจท่านผ่านไปหมดแล้ว
คำว่าสังฆาปาราชิกอะไรนี้.. ไม่มีในจิต แต่มีในกิริยาที่จะต้องปฏิบัติให้เหมาะสมต่อสังคมที่อยู่ร่วมกัน นั่น..ท่านก็แยกอย่างนั้น แต่พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นไม่เคยเห็นนะ เวลาท่านพูดท่านพูดเฉย ๆ ท่านไม่ทำ ท่านพูดไปเหมือนกัน พูดแถวนี้แหละ แต่ท่านจะไม่ทำ หากพูด พูดใกล้เคียงกันกับที่ว่าเอาธนบัตรใบละ ๕๐๐ มามวนสูบ มวนบุหรี่สูบเหมือนอย่างหลวงปู่แหวน เป็นแต่เพียงว่าท่านไม่ทำอย่างนั้น กิริยาท่านพูดน่ะมี มีอย่างนั้น
‘คือจิตที่พ้นไปหมดแล้ว มันหมดแล้วเรื่องสมมุติ ไม่มีอะไรเข้าถึงจิตดวงนั้น เพราะทั้งหลายไม่ว่าอาบัติอาจีอะไรนี้.. มันเป็นสมมุติทั้งหมด ส่วนจิตนั้นผ่านหมดแล้ว.. เข้าไม่ถึง แต่ทีนี้เมื่อมีสมมุติอยู่ โลกทั้งหลายเขามีสมมุติ ปฏิบัติต่อกันให้เป็นความเหมาะสม ท่านจึงปฏิบัติตามสมมุติอย่างนั้น’
อย่างพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่น ท่านไม่เคยข้ามเกินพระธรรมวินัยข้อใด ทั้ง ๆ ที่เวลาพูด.. ท่านก็พูด ท่านพูดเกี่ยวกับใจเสีย ท่านแยกออกมา สมมุติท่านก็บอกเราต้องปฏิบัติอย่างโลกเขาปฏิบัติกัน เพราะสมมุติกับสมมุติขัดกันไม่เหมาะ แน่ะ.. ว่างั้นนะ สมมุติกับสมมุติก็เคารพกัน นั่นท่านว่างั้น อย่างหลวงปู่แหวนที่ท่านว่า ท่านพลิกล็อกนะนั่น .. พลิกล็อกเป็นจิตล้วน ๆ แล้วไม่มีอะไรเข้าถึง ท่านแสดงออกมาทางกิริยาแย็บเดียว จากนั้นท่านก็ไม่เคยทำอีก ท่านทำให้เป็นข้อคิดเฉย ๆ ไม่ใช่ท่านดื้อด้าน ท่านทำเป็นข้อคิด...”