การจัดรูปกระบวนเรือฯ พร้อมตำแหน่งเรือ
กระบวนพยุหยาตราชลมารคในงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน
๑. การจัดรูปกระบวนเรือ
การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในงานพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ นั้น เป็นการจัดกระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ซึ่งจะจัดกระบวนเรือตามแบบอย่าง เมื่อครั้ง พ.ศ.๒๕๓๐ ทุกประการ กล่าวคือ กระบวนเรือจะประกอบไปด้วยริ้วกระบวน ๕ ริ้ว ใช้เรือรวมทั้งสิ้น ๕๒ ลำ ระยะต่อระหว่างลำ ๔๐ เมตร เว้น ระหว่างเรือพระที่นั่ง ๕๐ เมตร ระยะเคียงระหว่างริ้ว ๒๐ เมตร ความยาวของกระบวนยาว ๑,๑๑๐ เมตร กว้าง ๙๐ เมตร กำลังพลทั้งหมด ๒,๐๘๒ นาย เรือประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตรา มีดังนี้
๑.๑ เรือประตูหน้า เป็นเรือนำริ้วกระบวน ประกอบด้วยเรือ ๒ ลำ เป็นเรือลำหน้าสุดของริ้วที่ ๑ และ ๕ (นับจากขวา) ใช้ เรือทองบ้าบิ่น (ขวา) และ เรือทองขวานฟ้า (ซ้าย)
๑.๒ เรือพิฆาต เป็นเรือรบที่อยู่ในริ้วที่ ๑ และที่ ๕ ถัดจากเรือประตูหน้า เข้ามาในกระบวนหัวเรือ เป็นรูปเสือ มีปืนจ่ารงตั้งที่หัวเรือ ได้แก่ เรือเสือทะยานชล (ขวา) และ เรือเสือคำรณสินธุ์ (ซ้าย) เรือดังกล่าวนี้ปกติจะแล่นส่าย โดยเรือเสือทะยานชล แล่นส่ายนอกด้านขวา และ เรือเสือคำรณสินธุ์ แล่นส่ายนอกด้านซ้าย
๑.๓ เรือดั้ง เป็นเรือไม้ทาน้ำมัน บางลำทาสีทอง (ดั้ง ๒๑ และ ๒๒) ไม่มีลวดลาย ใช้สำหรับเป็นเรือรอบนอกของกระบวน โดยอยู่ในริ้วขวาสุดและริ้วซ้ายสุด
ริ้วนอกด้านหน้าของกระบวนมี ๑๑ คู่ หรือ ๒๒ ลำ ได้แก่ เรือดั้ง ๑ - ๒๒ เลขคี่ อยู่ด้านขวา เลขคู่อยู่ด้านซ้าย
๑.๔ เรือกลองใน-กลองนอก เป็นเรือกราบ อยู่ในริ้วกลาง หรือริ้วที่ ๓ มีปี่ชวาและกลองแขกสำหรับบรรเลง มี ๒ ลำ ได้แก่
เรือกลองใน (ใช้เรือแตงโม) อยู่บริเวณกลางกระบวน ข้างหน้าเรือพระที่นั่ง เรือสำหรับผู้บัญชาการกระบวนเรือ
เรือกลองนอก (ใช้เรืออีเหลือง) อยู่หน้าสุดของริ้วกลาง เป็นเรือสำหรับรองผู้บัญชาการกระบวนเรือ
๑.๕ เรือตำรวจใน-ตำรวจนอก เป็นเรือกราบ มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรมนั่งคฤห์ มี ๒ ลำ ได้แก่
เรือตำรวจใน อยู่ในริ้วกลางหน้าเรืออนันตนาคราช
เรือตำรวจนอก อยู่หน้าถัดจากเรือตำรวจใน
๑.๖ เรือรูปสัตว์ เป็นเรือแกะสลัก หัวเรือเป็นรูปขุนกระบี่ รูปอสูร รูปพญาวานร และครุฑ
ปัจจุบันมีอยู่ ๘ ลำ หรือ ๔ คู่
จัดให้อยู่ในริ้วกระบวนที่ ๒ และที่ ๔ อยู่ถัดระดับเรือตำรวจนอกเข้ามา โดยมีตำแหน่งเรือ ดังนี้
ริ้วที่ ๒ ริ้วที่ ๔
อสุรปักษี อสุรวายุภักษ์
กระบี่ปราบเมืองมาร กระบี่ราญรอนราพณ์
สุครีพครองเมือง พาลีรั้งทวีป
ครุฑเตร็จไตรจักร ครุฑเหินเห็จ
๑.๗ เรือพระที่นั่ง จัดว่าเป็นเรือสำคัญที่สุด และสง่างามที่สุดในกระบวน
มีเรือพระที่นั่งทรง ได้แก่ เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
มีเรือพระที่นั่งรอง ได้แก่ เรือสุพรรณหงส์
ในกระบวนพยุหยาตราครั้งนี้ เรืออนันตนาคราช จะเป็นเรือทรงผ้าไตร เรือเอนกชาติภุชงค์ เป็นเรือทรงผ้าไตรสำรอง
๑.๘ เรือคู่ชัก เป็นเรือที่ทำหน้าที่นำเรือพระที่นั่ง โดยอยู่ทางเบื้องขวาเฉียงไปข้างท้ายลำหนึ่ง ได้แก่ เรือเอกชัยเหินหาว และอยู่ทางเบื้องซ้ายเฉียงไปข้างท้ายอีกลำหนึ่ง ได้แก่ เรือเอกชัยหลาวทอง
๑.๙ เรือตำรวจตาม ใช้เรือกราบกัญญา ใช้เป็นพาหนะของพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ที่ตามเสด็จในกระบวน มีตำแหน่งเรืออยู่ในริ้วกลางต่อจากเรือผ้าไตรสำรอง (เรืออเนกชาติภุชงค์)
๑.๑๐ เรือแซง ใช้เรือกราบกัญญา เป็นเรือทหาร เรือแซงเสด็จทั้ง ๒ ข้างของเรือพระที่นั่ง โดยอยู่ในริ้วนอกสุดของกระบวน มี ๖ ลำ หรือ ๓ คู่ โดยแซงด้านขวา ๓ ลำ ได้แก่ เรือแซง ๑, ๓, ๕ และแซงด้านซ้าย ๓ ลำ ได้แก่ เรือแซง ๒,๔, ๖
นอกจากนั้นยังจัดเรือแซง ๗ อีก ๑ ลำ ปิดท้ายริ้วกลางของกระบวน ต่อจากเรือตำรวจตาม
๑.๑๑ เรือประตูหลัง ใช้เรือกราบกันยา คือ เรือแซง ๕ และแซง ๖
เรือทั้งหมดที่เตรียมไว้มี ๕๓ ลำ แต่จะใช้ในกระบวนพยุหยาตรา ๕๒ ลำ
๒. การเคลื่อนกระบวนเรือ
มีการปฏิบัติในการเคลื่อนกระบวนดังต่อไปนี้ คือ :
๒.๑ การเคลื่อนกระบวนเรือพระราชพิธีจากท่าวาสุกรีไปวัดอรุณราชวราราม
๒.๒ การปฏิบัติระหว่างการเดินทางจากท่าวาสุกรีไปวัดอรุณราชวราราม
๒.๓ การปฏิบัติเมื่อเรือพระที่นั่งทรงเข้าเทียบท่าวัดอรุณราชวราราม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 29-09-2012 เมื่อ 04:03
|