แต่ว่ากำลังใจของบางท่าน อุเบกขาก็เป็นหลักธรรมที่สูงเกินไป เรายังเข้าไม่ถึง ปล่อยไม่ได้ วางไม่ลง ก็ต้องเอาขั้นต้นก็คือการสำรวมอินทรีย์ ระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา
ระมัดระวังอย่างไร ? ตาเห็นรูปให้สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียงให้สักแต่ว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่นให้สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้นได้รสให้สักแต่ว่าได้รส กายสัมผัสให้สักแต่ว่าสัมผัส ใจครุ่นคิดให้รู้จักควบคุม ระมัดระวังให้คิดอยู่ในเรื่องที่ดีที่เป็นประโยชน์
คราวนี้การที่เราจะระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเราก็คือ ควบคุมที่ใจ ระมัดระวังใจของเราไม่ให้คิดชั่ว ไม่ให้อยากเห็นในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ให้อยากได้ยินในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ให้อยากได้กลิ่นในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ให้อยากได้รสในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่อยากสัมผัสในสิ่งที่ไม่สมควร
พยายามหักห้ามใจของเราเอาไว้ เหมือนอย่างกับรูปปริศนาธรรมในนิกายเซน ที่มีลิงปิดตา ปิดหู ปิดปาก อย่างที่บางท่านเขียนเอาไว้ว่า ปิดตาไม่ดู ปิดหูสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง จะนั่งสบาย ก็คือลักษณะของการปล่อยวางได้บ้าง เพราะว่าถ้าไม่ปล่อย เราก็จะหนัก เราก็จะเครียดอยู่คนเดียว
แต่การที่เราจะปล่อยได้นั้น เราก็ต้องพิจารณาจนเห็นทุกข์เห็นโทษจริง ๆ ว่า การเกิดมามีร่างกายเช่นนี้ การเกิดมาในโลกที่ทุกข์ยากเร่าร้อนเช่นนี้ ทำให้เราต้องประสบกับภาวะที่ไม่พึงปรารถนา ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ต้องไปเสพเสวยในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ก่อให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมา เมื่อเราเห็นโทษ ไม่อยากเกิดอีก ก็จะรู้ระมัดระวัง แต่ถ้าตราบใดที่เรายังไม่เห็นโทษ เราไม่รู้จักระมัดระวัง ก็จะเสพเสวยสิ่งต่าง ๆ ไปตามอารมณ์ ทำให้เราเครียด ทำให้เราลำบาก ทำให้เราเดือดร้อนได้ในภายหลัง
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 26-09-2019 เมื่อ 02:15
|