เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ขอให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ กรุงสุโขทัยของเรามีพระเจ้าแผ่นดิน ๖ พระองค์ กรุงศรีอยุธยามี ๓๓ พระองค์ กรุงธนบุรีมี ๑ พระองค์ กรุงรัตนโกสินทร์มี ๑๐ พระองค์แล้ว
เราจะเห็นว่าบุคคลที่มากด้วยบุญญาบารมีเช่นพระมหากษัตริย์ เมื่อถึงเวลาก็ยังประสบกับภาวะปกติ ก็คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ดังนั้น...สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นกับพวกเรา สิ่งหนึ่งที่ควรจะทำก็คือ วางกำลังใจให้เห็นความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งทั้งหลาย ดังที่บาลีกล่าวว่า สัพเพ สังขารา อนิจจาติ สังขารทั้งหลายนั้นไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด
ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นที่รักที่ปกป้องของคนสักเท่าไรก็ตาม ต่อให้มีกองทัพห้อมล้อมอยู่รอบกายก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันการแก่ การเจ็บ การตายได้ เพราะว่าธรรมดาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มีประจํา สังขารรูปนามตกอยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์ ก็คืออนิจจัง มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ ทุกขัง ประกอบไปด้วยความทุกข์เป็นปกติ อนัตตา ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้
เพียงแต่ว่าปัญญาของเราไม่พอ เราก็จะมองเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เที่ยง แต่ความจริงเป็นการเข้าใจผิด เป็นความเมาในชีวิต ความเมาในการไม่มีโรค ความเมาว่ายังอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาว เป็นต้น ทั้งยังจัดเป็นมิจฉาทิฐิ ก็คือความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง บาลีเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวิปลาส ก็คือความคลาดเคลื่อนไปจากปกติ
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 24-05-2019 เมื่อ 02:38
|