พรหมวิหาร ๔
๑. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาจะให้เป็นสุข
๒. กรุณา ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์
๓. มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี
๔. อุเบกขา ความวางเฉย ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เมื่อผู้อื่นถึงความวิบัติ
คำว่า พรหม แปลว่า ประเสริฐ เป็นใหญ่ โดยบุคคลาธิษฐาน หมายถึง บุคคลผู้อยู่ด้วยฌานสมาบัติ ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องกามารมณ์ โดยธรรมาธิษฐาน หมายถึงจิตใจที่ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือดับนิวรณ์ได้
พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพรหม หรือผู้ประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่
ความรักด้วยความปรารถนาดี คือต้องการให้เขามีความสุข โดยไม่มีความใคร่อยากจะได้อะไรจากเขามาเป็นของตน ชื่อว่า เมตตา
ความเอื้อเฟื้อ ความเอาใจใส่ ความห่วงใยต่อผู้ตกทุกข์ประสบภัย อดอยากหิวโหย เป็นต้น เข้าช่วยเหลือด้วยกำลังกายและทรัพย์ ชื่อว่า กรุณา
ความยินดีด้วยกับบุคคลที่ได้ลาภ ได้ยศ ได้เกียรติ ได้รับความสำเร็จในอาชีพการงาน เป็นต้น ชื่อว่า มุทิตา
ความวางเฉย คือ มีใจเป็นกลาง ไม่ดีใจเมื่อผู้ที่เป็นศัตรูแก่ตนประสบทุกข์ภัยอันตรายและได้รับความวิบัติ ไม่เสียใจเมื่อผู้ที่ตนรักประสบทุกข์ เป็นต้นนั้น ในเมื่อตนได้ช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว แต่ช่วยไม่ได้ ชื่อว่า อุเบกขา
__________________
มารใช้ คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว เป็นเครื่องมือในการขวางเรา โดยเฉพาะคนที่เรารักมากที่สุด
(-/\-) (-/\-) (-/\-)
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 06-11-2017 เมื่อ 17:05
|