09-09-2009, 16:43
|
|
ผู้สนับสนุนเว็บวัดท่าขนุน - ยืนยันตัวตนแล้ว
|
|
วันที่สมัคร: Jan 2009
สถานที่: Bangkok Thailand
ข้อความ: 866
ได้ให้อนุโมทนา: 21,453
ได้รับอนุโมทนา 109,765 ครั้ง ใน 2,785 โพสต์
|
|
พระยานรรัตนราชมานิตได้บอกว่าตำแหน่งของท่านนี้ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตก็จะบวชถวายพระราชกุศล
มีตัวอย่างมาเสมอ แต่ไม่มีใครบวชถวายตลอดชีวิตตั้งแต่หนุ่มเหมือนท่าน
เหตุใดท่านจึงได้มาบวชที่วัดเทพศิรินทราวาสก่อน ในเมื่อบ้านท่านก็อยู่ใกล้วัดโสมนัส และท่านเองก็เรียนที่วัดโสมนัส
ท่านมีอะไรเกี่ยวข้องกับวัดเทพศิรินทราวาสมาก่อนหรือ ตอนนี้แหละที่วิชาดูลายมือ ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของท่าน
เมื่อท่านตัดสินใจแน่วแน่ที่จะบวชแล้ว ท่านพิจารณาเห็นว่า
การบวชนี้ก็เท่ากับว่าได้เกิดในเพศใหม่ มีพระอุปัชฌาย์เป็นพ่อ ฉะนั้นท่านก็ควรจะเลือกพ่อให้ดีที่สุด
ในเมื่อท่านมีสิทธิ์จะเลือกได้ วิธีเลือกของท่านนั้น ท่านได้อาศัยวิชาดูลายมือและวิชาดูลักษณะเป็นหลักเกณฑ์
โดยท่านได้นำภัตตาหารไปถวายพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เวลาจะประเคนท่านแอบดูลายมือขณะที่พระรับประเคนของบ้าง
ขอดูมือบ้างเมื่อมีโอกาสสมควรและไม่ขาดคารวะ ท่านทำดังนี้อยู่หลายวัด จนกระทั่งถึงวัดเทพศิรินทราวาส
ท่านได้เห็นลายมือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ตลอดจนเห็นลักษณะทุกอย่างแล้วท่านก็ปลงใจว่า
จะเลือกสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพ่อในการเกิดเป็นพระภิกษุในครั้งนี้
ท่านจึงได้มาขอบวชที่วัดเทพศิรินทราวาส ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ มีอายุครบ ๒๘ ปี
โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถระ) เป็นอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า ธมฺมวิตกโกภิกขุ
ท่านธมฺมวิตกฺโกเป็นผู้สุขุมละเอียดอ่อนมากในการจะตัดสินใจทำอะไร
โดยมากท่านจะคิดวางโครงการเป็นขั้นเป็นตอนว่า จะทำอะไรและทำให้ได้เพียงใดก่อนเสมอ
ส่วนเรื่องที่ท่านไม่ได้คิดบวชจนตลอดชีวิตมาแต่แรก เพราะตามโครงการของท่านนั้น
ท่านได้วางไว้ว่า จะบวชถวายพระราชกุศลเพียงหนึ่งพรรษา
แล้วหลังจากนั้น ท่านจะแต่งงานแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา แล้วจะกลับมารับใช้ชาติต่อไป
แต่เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ท่านกลับไม่คิดลาสิกขา เพราะได้กัลยาณมิตรในทางธรรมแล้ว
คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านเอง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้สอน เรื่องอริยสัจสี่แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุข
จนกล่าวได้ว่าไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาส ที่จะไม่มีความทุกข์ซ้อนอยู่ในความสุขนั้น
และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของท่านที่ผ่านมาท่านก็เห็นได้ชัดเจนว่า
ชีวิตเป็นทุกข์อย่างแท้จริงและอยากจะใฝ่หาทางพ้นทุกข์
อย่างไรก็ดี ท่านยังไม่ตัดสินใจจะบวชตลอดชีวิต แต่จะบวชไปก่อน การบวชไปก่อนของท่านนั้นไม่ได้บวชอย่างขอไปที
หรือบวชอย่างคนที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลาสิกขาหรือไม่ ซึ่งการบวชดังกล่าวนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บวชแต่อย่างใด
นอกจากจะอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านไม่ได้ปล่อยให้เวลาล่วงไปวันหนึ่ง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์
ท่านบวชและเจริญสมาธิอย่างเข้มงวดในช่วงระยะเวลานี้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งใจจะบวชจนตลอดชีวิตเท่านั้น
และจากการปฏิบัติของท่านนี้ ก็เกิดผลให้ท่านสมดังใจ ทำให้ท่านตัดสินใจได้ภายหลัง หลังจากบวชแล้วประมาณ ๖ ปี
ขณะนั้น ท่านเกิดเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียว
และเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมือง จนเล็งเห็นว่าแม้ท่านจะลาสิกขาออกไป ท่านก็ไม่อาจจะไปใช้ชีวิตดังเดิมได้
ในเมื่อจิตใจของท่านเบื่อหน่ายต่อชีวิตการครองเรือน มองเห็นแต่ความทุกข์ หากลาสิกขาบทไปก็เท่ากับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมอีก
ในเมื่อท่านได้ก้าวออกมาจากชีวิตนั้นแล้ว เป็นอิสระแล้ว จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกทำไมเล่า
เหมือนก้าวขึ้นมาจากโคลนตมแล้วกลับกระโดดลงไปอีกฉะนั้น
ส่วนที่ท่านบอกว่า เห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมืองจนคิดเบื่อหน่ายนั้นก็คือ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ทรงตั้งสมาคมเจ้า
และท่านปรีดี พนมยงค์ ตั้งสมาคมราษฎร์ขึ้นมา ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าท่านไม่อาจไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกอย่างแน่นอน
เพราะชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้โดยไม่รู้ว่าต่อสู้ไปทำไม เพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ควรจะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ป้านุช : 24-09-2009 เมื่อ 11:26
|