เก็บตกจากเกาะพระฤๅษี ๑๔ เมษายน ๒๕๔๙
ถาม : กสิณแสงสว่าง ปกติที่เขาฝึกกัน เขาฝึกอย่างไรครับ ?
ตอบ : สมัยก่อนเขาใช้แสงสว่างที่ลอดทะลุหลังคามา มองแล้วจดจำเอาไว้ ถ้าเลือนหายไปก็ลืมตามองใหม่ ปัจจุบันนี้ง่าย ใช้ลูกแก้วก็ได้ พระแก้วก็ได้
ถาม : แล้วที่บอกว่าต้องทำเป็นแก้วประกายพรึก หมายความว่าอย่างไรครับ ?
ตอบ : พอภาพกสิณติดตา ตอนนั้นเราต้องประคับประคองรักษาอารมณ์ ซึ่งภาพจะเปลี่ยนไปเรื่อยตามกำลังสมาธิของเราที่ลึกไปทุกที ๆ พอสมาธิลึกถึงที่สุดจนเป็นฌานสี่ ภาพกสิณจะสว่างเจิดจ้าเหมือนอย่างกับเรามองดวงตะวัน ถึงตอนนั้นเราก็ลองอธิษฐานขยายให้ใหญ่ขึ้น ให้เล็กลง ให้มาได้ ให้ไปได้
ถาม : ตอนเป็นฌานสี่ใช่ไหมครับ ?
ตอบ : ตอนนั้นเราจะไม่รู้หรอก เพราะเราจับภาพกสิณไว้ ไม่ได้สนใจของอารมณ์สมาธิ แต่การจับภาพจะเป็นขั้นตอนของสมาธิทุกระดับ เริ่มตั้งแต่เป็นอุคหนิมิตติดตาจะเป็นอุปจารสมาธิ บางคนก็ทำกสิณไปเรื่อย ๆ แต่ไม่รู้หรอกว่าตัวเองทรงฌานไปเต็ม ๆ แล้ว
เรื่องของกสิณ หลายคนเข้าใจว่าต้องไปนั่งจ้องอยู่ ความจริงให้มองวัตถุที่เป็นดวงกสิณแล้วหลับตาลง ก็นึกภาพได้พักหนึ่ง สำหรับคนที่ยังไม่เคยชิน มองแล้วหลับตาลงจะนึกถึงภาพได้พักหนึ่ง พอภาพหายไปก็ลืมตาขึ้นมองใหม่ แล้วก็หลับตานึกถึง พร้อมกับคำภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง ไม่ใช่แค่ ๓ ครั้งก็เบื่อแล้ว
พอเริ่มหลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น ไปไหนก็เห็น คราวนี้นิมิตกสิณที่เราตั้งไว้ก็มีความจำเป็นน้อยลง เหลือความจำเป็นตรงการประคับประคองภาพกสิณให้อยู่กับเราให้ได้ ตอนนั้นยิ่งกว่าเลี้ยงลูกอ่อนอีก พลาดเมื่อไรตก หลุดมือตายเมื่อนั้น ต้องเริ่มต้นใหม่ ฉะนั้น..กสิณดีตรงที่ทำให้สติของเราสมบูรณ์ เพราะว่าเป็นของหยาบ มีนิมิตเป็นเครื่องโยง
ประคองภาพไว้ทั้งวัน จะทำอะไรก็ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน ถึงเวลาต้องแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งนึกถึงภาพกสิณไว้เสมอ ตอนนั้นกิเลสโผล่ไม่ได้หรอก เพราะว่าสติของเราไปจดจ่ออยู่กับภาพกสิณตลอด นับเป็นเรื่องดี
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย เถรี : 30-03-2015 เมื่อ 14:01
|