อุดมการณ์ข้อที่สาม พระองค์ท่านตรัสว่า นหิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี ถ้ายังฆ่าผู้อื่นอยู่ไม่ถือว่าเป็นบรรพชิต คือผู้ที่งดเว้นจากบาปทั้งปวงแล้ว เนื่องเพราะนักบวชในสมัยนั้น นิยมการฆ่าสัตว์บูชายัญ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ญาติโยมบางท่านก็อาจจะได้เห็นข่าวต่างประเทศ มีการฆ่าสัตว์บูชายัญกันที่ประเทศเนปาลถึง ๕๐๐,๐๐๐ ตัว พระองค์ท่านจึงกล่าวคัดค้านว่า ถ้าหากยังฆ่าผู้อื่นอยู่ไม่ถือว่าเป็นบรรพชิต ปัพพชิตะ แปลว่า ผู้ชนะมาตั้งแต่ต้น คือผู้ชนะกิเลส ชนะด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ไม่ใช่การชนะด้วยการเอาชีวิตผู้อื่นไปบูชายัญ
อุดมการณ์ข้อสุดท้าย พระองค์ท่านกล่าวว่า สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ถ้ายังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ เนื่องเพราะในสมัยนั้นมีการแข่งขันการทางพระศาสนาสูงมาก จึงทำให้บรรดานักบวชต่าง ๆ พยายามที่จะเบียดเบียน กดข่มศาสนาอื่น ๆ เพื่อยกตัวเองให้เด่นขึ้นมา จึงมีการเบียดเบียนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจเป็นปกติ แม้กระทั่งให้ร้ายใส่ร้ายด้วยวิธีการต่าง ๆ
อย่างเช่น ฆ่านางสุนทรีปริพาชิกา แล้วกล่าวหาว่าพระสมณโคดม คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ฆ่า การให้นางจิญจมาณวิกาปลอมเป็นผู้หญิงท้อง แล้วกล่าวหาว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้ท้อง เป็นต้น เรื่องการเบียดเบียนกดข่มศาสนาอื่น จนเป็นเรื่องปกติในยุคนั้น พระองค์ท่านจึงประกาศอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาข้อสุดท้ายว่า ถ้ายังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ คือเป็นผู้มีบาปอันลอยไปแล้ว ล่วงพ้นจากบาปทั้งปวงแล้ว
หลังจากนั้นพระองค์ท่านก็ประกาศให้บรรดาพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ทราบต่อไปว่า หลักการสำคัญในพระพุทธศาสนา ๓ อย่าง ได้แก่
สพฺพปาปสฺส อกรณํ........การละเว้นจากความชั่วทั้งปวง
กุสลสฺสูปสมฺปทา............การทำความดีให้ถึงพร้อม
สจิตฺตปริโยทปนํ............การชำระจิตของตนให้ผ่องใสจากกิเลส
นี่คือหลักการในพระพุทธศาสนาของเรา การที่จะละเว้นจากความชั่วทั้งปวงนั้น คือ เว้นจากกายทุจริต ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย เป็นต้น เว้นจากวจีทุจริต คือ การไม่โกหก การไม่พูดคำหยาบ การไม่ยุยงให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน และการไม่พูดวาจาเพ้อเจ้อไร้ประโยชน์ เว้นจากมโนทุจริต คือ ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดอาฆาตพยาบาทจองเวรผู้อื่น มีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นตรงต่อหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าพระองค์ท่านตรัสสอนไว้ดีแล้ว ถูกแล้ว เรายินดีที่จะปฏิบัติตาม
ส่วนการทำความดีให้ถึงพร้อมนั้น ก็เป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับหลักการเมื่อครู่นี้ ก็คือ ให้ประพฤติในกายสุจริต เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการดื่มสุราเมรัย ประพฤติในวจีสุจริต ก็คือ ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดยุให้คนอื่นแตกร้าวกัน ไม่พูดวาจาที่ไร้ประโยชน์ ประพฤติในมโนสุจริต คือ เป็นผู้ที่ไม่คิดอาฆาตพยาบาทผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น มีความคิดเห็นเป็นสัมมาทิฐิ ตรงต่อพระรัตนตรัย เป็นต้น
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 10-03-2015 เมื่อ 19:04
|