มีผู้เอา หนังสือ "สมบัติพ่อให้" เข้าไปสอบถาม เกี่ยวกับรายละเอียดของยันต์ต่าง ๆ ที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านได้สร้างไว้
ถาม : ธงท้าวมหาชมพู ?
ตอบ : จริง ๆ แล้วมีแค่รูปยันต์นั่นแหละ นอกนั้นเกินมา อันนี้เป็นมหาอุตม์ อันนี้เป็นปืนแตก อันนี้กันโรคระบาด หลวงพ่อท่านเพิ่มให้
ถาม : ธงเขียว ?
ตอบ : ธงเขียวคือธงท่านปู่พระอินทร์ จริง ๆ แล้วมีแค่ ๓ คำ หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านเพิ่มให้ เพราะอยู่ ๆ มีแค่นั้นก็ดูน้อยเกินไป
ถาม : แล้วธงพระแม่โพสพ ?
ตอบ : ธงพระแม่โพสพจริง ๆ มีแค่รูปเท่านั้น
ถาม : ยันต์ของเสด็จในกรมหลวงชุมพร ?
ตอบ : ยันต์นี้บังคับด้วยว่าต้องเป็นผ้าสีม่วงอย่างเดียว วัสดุอื่น ๆ ทำไม่ได้ ของท่านปู่พระอินทร์ก็เป็นผ้าเขียวอย่างเดียว ผ้ายันต์ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสีแดง เห็นมีแต่ของท่านปู่พระอินทร์กับของเสด็จในกรมหลวงชุมพรที่บังคับสีไว้
ถาม : ยันต์ค้าขาย ?
ตอบ : จริง ๆ ไม่ใช่ยันต์ค้าขายหรอก หลวงพ่อท่านทำเอาไว้ แล้วคนไม่รู้จะบรรยายอย่างไรก็ใส่ไปเรื่อย ไปค้นเจอจะเข้าไปถามก็คงเกรงใจ
ถาม : ตะกรุดเดินป่าหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านจารยันต์อะไรครับ ?
ตอบ : ไม่รู้เหมือนกัน ไม่เคยแกะดู แต่ว่าไม่ใช่ตะกรุดเดินป่าหรอก ตอนนั้นท่านเพิ่งไปอยู่วัดท่าซุงไม่นาน ทำแจกที่ศาลาเก่าเพื่อหาทุนสร้างวัด แล้วคนแย่งกันรับจนกระทั่งศาลาทรุดไปด้านหนึ่ง ท่านก็เลยสร้างใหม่เป็นตึกกองทุนขึ้นมา ก็คือตะกรุดรุ่นนี้แหละ ท่านเองไม่ได้แจก เก็บเอาไว้ตั้งหลายสิบปีกว่าเขาจะไปค้นเจอใหม่
ถาม : การทำธงเขียว ?
ตอบ : การเสกของท่านจะมีพิธีต่างหาก แล้วก็ต้องมีผ้าแพร สมัยก่อนเรียกว่าผ้าขาว วางซ้ายขวาอย่างละพาน
ถาม : ...(ไม่ได้ยิน)...
ตอบ : ไม่ใช่..ผ้าแพรก็คือผ้าขาวนั่นแหละ ตำราโบราณขาดพวกนี้ไม่ได้ เพราะถือเป็นเครื่องไหว้ครูอย่างหนึ่ง สมัยก่อนเวลาไหว้ครู ฆราวาสก็เอาผ้าขาวม้าไป พระก็เอาผ้าไตรไป อันนี้ของเขาไหว้ครูพรหมครูเทวดา ก็เอาผ้าขาว แต่คนโบราณเรียกว่าผ้าแพร
ถาม : แล้วทำไมเขาเรียกผ้าแพรครับ ?
ตอบ : ก็ไม่รู้เหมือนกัน ผ้าแพรในความรู้สึกของอาตมาก็คือแพรปังลิ้นที่ลื่น ๆ แต่สมัยก่อนผ้าแพรก็คือผ้าขาว
ถาม : แล้วผ้าเพลาะละครับ ?
ตอบ : ผ้าเพลาะคือผ้าที่เขาเอามาเย็บติดกัน คำว่าเพลาะก็คือเอามาต่อกันเป็นชิ้น ๆ เป็นภาษาโบราณอีกเหมือนกัน สมัยนี้ไม่ค่อยได้ยินแล้ว ถ้าจำไม่ผิด ของท่านปู่ท่านบอกว่าให้เอาดินสอที่เขียนไปวางไว้ด้วย ท่านใช้คำว่าดินสอนะ สมัยนี้ส่วนใหญ่ใช้ปากกาเขียนกัน
ฉะนั้น..อะไรที่เขียนคุณก็เอาใส่ลงไปด้วย คำว่า "สอ" สมัยก่อนก็คือการเคลือบ การโบก คราวนี้ดินสอก็คือดินที่สมัยก่อนเขาเอามาโบกบ้าน ตอนหลังเขาเอามาทำเป็นดินสอสำหรับเขียน ก็ยังเรียกดินสอเหมือนเดิม อย่าง "สอปูน" ก็คือ "โบกปูน"
ภาษาโบราณนาน ๆ ไปคนรุ่นหลังไม่รู้ ถึงได้ว่าพระไตรปิฎกต้องมีอรรถกถามาอธิบายพระไตรปิฎก พอนาน ๆ ไปเป็นร้อยปีก็ต้องมีฎีกามาอธิบายอรรถกถา แล้วก็มีอนุฎีกามาอธิบายฎีกา มีเกจิอาจารย์มาอธิบายอนุฎีกา ไล่กันไปเรื่อยตามยุคสมัย
__________________
........................
เกิดมาทั้งที เอาดีให้ได้ ตายไปทั้งที ฝากดีเอาไว้ อยู่ให้เขาเกรงใจ ไปให้เขาคิดถึง
จะเช มัตตา สุขังธีโร ปัญญาชน พึงสละสุขส่วนตน เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สุธรรม : 21-02-2015 เมื่อ 03:06
|